เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตามที่ กรม สบส. ได้รับเบาะแสการลักลอบนำแพทย์ต่างชาติเข้ามาประกอบวิชาชีพเวชกรรมในคลินิก ย่านปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตนจึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มไซเบอร์ กองกฎหมาย กรม สบส. ประสานความร่วมมือกับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และแพทยสภา ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ คลินิกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยพบบุคคลซึ่งเป็นแพทย์จากประเทศเกาหลีใต้ กำลังให้บริการด้านการให้คำปรึกษา และประเมินการให้บริการเสริมความงามแก่ผู้รับบริการ โดยมีการสัมผัสบริเวณใบหน้า และให้การวินิจฉัยกับผู้รับบริการ โดยจากการตรวจสอบพบช้อมูลว่า ในการตรวจประเมินและวินิจฉัยในแต่ละครั้งนั้น ทางคลินิกจะให้ผู้รับบริการเข้าพบแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และแพทย์ชาวเกาหลีใต้ ผ่านเอเยนซี่

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า การกระทำของแพทย์ชาวเกาหลีใต้ เข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ในฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมี นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งกรม สบส. จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในฐานปล่อยปละละเลยให้ผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีมาตรการทางปกครองออกคำสั่ง ตามมาตรา 49 ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้ง ยังพบการโฆษณาสถานพยาบาลผ่านสื่อโซเชียล โดยมิได้รับการอนุมัติจากผู้อนุญาต ซึ่งกรม สบส. จะดำเนินการออกคำสั่งระงับการโฆษณา และส่งคณะกรรมการเปรียบเทียบคดี

“กรณีแพทย์ชาวเกาหลีใต้ กรม สบส. จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยมีหมายเรียกให้แพทย์ชาวเกาหลีใต้มาสอบสวนต่อพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. และจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหากมีการหลบหนี จะมีหนังสือแจ้งไปถึงองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรืออินเตอร์โพล เพื่อดำเนินคดีต่อไป” นพ.ภานุวัฒน์  กล่าว

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า บริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับความงาม เป็นบริการที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สถานพยาบาลหลายแห่งจึงมีการแข่งขัน ทั้งในด้านเทคโนโลยี หรือบุคลากร ซึ่งบางแห่งอาจจะมีการอ้างชื่อแพทย์จากต่างประเทศมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจ อย่างไรก็ดี กรณีที่คลินิกเสริมความงาม จะนำแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาให้บริการในคลินิก ไม่ว่าจะให้บริการประจำหรือไม่ประจำก็ตาม จะต้องดำเนินการให้ถูกกฎหมาย โดยต้องขออนุญาตกับ สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ และตัวแพทย์ผู้ให้บริการจะต้องต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อประกอบวิชาชีพในประเทศไทยให้ได้ก่อน จึงจะมีสิทธิให้การรักษา ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน หากใช้แพทย์ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือไม่ก็ตาม จะเข้าข่ายว่าคลินิกแห่งนั้นใช้หมอเถื่อน ซึ่งจะมีบทลงโทษทั้งหมอเถื่อน และแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ประการสำคัญ กรม สบส.จะร่วมมือกับแพทยสภา ตรวจสอบสถานพยาบาลเอกชนที่มีข้อสงสัยว่านำแพทย์ต่างประเทศมาให้บริการ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส.