สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ว่าดัชนี “ลีฟวิงแพลเน็ต” ของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟระบุว่า ประชากรสัตว์ 35,000 ตัวจากกว่า 5,000 สายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, นก, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก, สัตว์เลื้อยคลาน และปลา ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2513 เพราะการกระทำของมนุษย์

รายงานย้ำถึงวิกฤติที่ “เชื่อมโยง” กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทำลายธรรมชาติ พร้อมเตือนถึง “การเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นใกล้ระบบนิเวศบางแห่ง เช่น การตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอน ซึ่งเปลี่ยนระบบนิเวศจากการเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน ให้กลายเป็นแหล่งกำเนิดคาร์บอน

การเสื่อมโทรมและการสูญเสียที่อยู่อาศัยของสัตว์ ถือเป็นภัยคุกคามซึ่งมีการรายงานมากที่สุด ตามด้วยการใช้ทรัพยากรมากเกินไป, การรุกรานจากสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ และโรคติดต่อ ขณะที่ภัยคุกคามอื่น ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในละตินอเมริกา และแถบแคริบเบียน และมลพิษในอเมริกาเหนือ, เอเชียและแปซิฟิก

ประชากรของสปีชีส์น้ำจืดลดลงมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ สัตว์มีกระดูกสันหลังบนบกและในทะเล

การลดลงในทวีปละตินอเมริกาและแคริบเบียนอยู่ที่ร้อยละ 95 รองลงมาคือแอฟริกาที่ร้อยละ 76 และเอเชียและแปซิฟิกร้อยละ 60 ขณะที่ทวีปยุโรป, เอเชียกลาง และอเมริกาเหนือ พบการสูญเสียไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี ความพยายามในการอนุรักษ์และการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ช่วยให้สัตว์บางสายพันธุ์มีจำนวนคงที่หรือเพิ่มขึ้น อาทิ กระทิงป่าในยุโรป ซึ่งหายไปจากป่าเมื่อปี 2470 มีจำนวนในพื้นที่คุ้มครองมากขึ้นถึง 6,800 ตัวเมื่อปี 2563 หลังการเพาะพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน งานวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์ “เนเจอร์” กล่าวหาดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ว่ามีอคติในการจัดดัชนีซึ่งแสดงตัวเลขที่ลดลงเกินจริง นายแอนดรูว์ เทอร์รี จากสมาคมสัตววิทยาแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวว่า พวกเขามีความมั่นใจในความแข็งแกร่งของสปีชีส์ พร้อมย้ำให้รายงานพิจารณาตัวบ่งชี้จากความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ, ความหลากหลายทางชีวภาพ และสุขภาพของระบบนิเวศ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES