เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเวทีเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ถกประเด็นผลกระทบของโรคและความจำเป็นในการดูแลป้องกันสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง โดย รศ.นพ.ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2567 ยังมีคนติดเชื้อโควิด-19 สูง ซึ่งข้อมูลตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 16 ก.ย. 2567 มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 7 แสนราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 48,000 ราย และเสียชีวิต 205 ราย เป็นสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีผูป่วยประมาณ 490,000 ราย เสียชีวิต 36 ราย ดังนั้น โควิด-19 ถือว่ามีความรุนแรงมากกว่า ทั้งจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตที่มากกว่าอย่างชัดเจน โดยผู้เสียชีวิตนั้น 80-90% อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกลุ่ม 608 ซึ่งหมายถึงผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน, โรคอ้วน)

รศ.นพ.ภิรุญ กล่าวต่อว่า การที่ประชากรส่วนใหญ่ห่างหายจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปนาน ถึงแม้หลาย ๆ คนอาจเคยติดเชื้อไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันก็อยู่ไม่นาน ประกอบกับเชื้อมีการกลายพันธุ์ไป สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางเสี่ยงป่วยหนักสูง 2-3 เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 2-10 เท่า ดังนั้นช่วงปลายปี ต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เป็นต้น

พล.ต.ต.นพ.เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ เมื่อเป็นโควิด-19 ก็สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ เช่น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงได้ หากภาวะดังกล่าวเกิดกับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว อาจทำให้อาการแย่ลงถึงขั้นหัวใจวายได้

พล.ต.ต.นพ.เกษม กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนที่มีการพูดถึงบ่อย คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น จากการเก็บข้อมูลการฉีดในประเทศไทย มีรายงานว่าพบได้ประมาณ 2 ในล้านคน ซึ่งจะเกิดเพิ่มขึ้นในชายอายุ 18-29 ปี โดยเฉพาะหลังการฉีดเข็มที่ 2 แต่หลังฉีดเข็มกระตุ้น แทบจะไม่เจอรายงานเลย ถ้าเทียบกับอุบัติการณ์ที่เจอในคนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีนก็พบว่า ไม่ได้เพิ่มขึ้นหลังเข็มกระตุ้น ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง จึงไม่มีความกังวลในจุดนี้

ด้าน ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โควิดส่งผลกระทบต่อทุกอวัยวะ ทั้งโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาได้ในหลาย ๆ ระบบ แม้กระทั่งผู้ไม่ได้มีโรคประจำตัวมาก่อน ก็พบว่าโรคบางโรคเพิ่มสูงขึ้นหลังหายจากโควิดแล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคทางสมอง เป็นภาวะที่เกิดตามหลังโควิด-19 หรือเรียกว่าลองโควิด ซึ่งพบประมาณ 15% แต่ในกลุ่ม 608 นั้น โรคมีความรุนแรงทั้งในขณะที่ป่วยอยู่และหลังจากหายป่วยแล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่า วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็น โควิด-19 มีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จึงจำเป็นที่ต้องรับวัคซีนกระตุ้น ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นจะประมาณ 60-70% ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งถ้าพิจารณาจากความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในคนกลุ่มนี้แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้

“ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้น ขณะที่สมาคมโรคติดเชื้อฯ และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด สำหรับกลุ่ม 608 แนะนำเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน และไม่ขึ้นกับว่าเคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วกี่ครั้ง” ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าว และว่า ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนโควิดทั่วโลกมากกว่า 13,000 ล้านเข็ม มีการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิดและโควิด-19 ออกมามากมาย ซึ่งข้อมูลยังคงสนับสนุนว่า วัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะที่ใช้ในปัจจุบัน คือ วัคซีนชนิด mRNA มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง ที่มีการบอกว่าฉีดแล้วเป็นมะเร็ง ข้อมูลในปัจจุบันไม่พบว่าวัคซีนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง ตามที่ ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เคยชี้แจงไว้ จึงขอให้ประชาชนติดตามและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้”

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มผู้ป่วย Healthy Forum และสมาคมโรคเพื่อนไตแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ เน้นย้ำว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโควิด-19 ด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังและประชาชนกลุ่มเสี่ยง อยากให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยพิจารณาและจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประชาชน