นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ว่า ขณะนี้ปริมาณฝนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ลดน้อยลงแล้ว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่สถานีวัดน้ำ P.1 (สะพานนวรัฐ)  อำเภอเมืองเชียงใหม่ ลดต่ำกว่าตลิ่งแล้วประมาณ 93 เซนติเมตร แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดการณ์ว่าภายใน 1-2 วัน สถานการณ์น้ำท่วมขังในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนพื้นที่รอบนอกคาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดลำพูน ล่าสุดระดับในแม่น้ำปิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการชลประทานลำพูน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งตามประตูระบายน้ำ (ปตร.) ต่าง ๆ ในตัวเมืองลำพูน อาทิ ปตร.ปิงห่าง ปตร.ร่องกาศ ปตร.ปลายเหมือง ฝายชลขันธ์พินิจ (แม่ปิงเก่า) และ ปตร.ล้องพระปวน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ ปตร.สบทา เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำปิงให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และลำพูน หากไม่มีฝนตกหนักและไม่มีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงมาเพิ่ม คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สถานการณ์น้ำท่วมเมืองลำพูนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันยังคงมีปริมาณน้ำสะสมจากทางตอนบนไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,318 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง แต่ยังคงทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่  พร้อมคงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่องอยู่ในอัตรา 2,199 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้มากที่สุด ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าวติดต่อกันมา 4 วันแล้ว ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทรงตัว ในขณะที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่สถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,791 ลบ.ม./วินาที ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำ ในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง

สถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า ปัจจุบัน ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสถานี C.2 นครสวรรค์ที่ 2,326 ลบ.ม./วินาที สมทบกับปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำสะแกกรัง ct.19 อุทัยธานี 41 ลบ.ม./วินาที ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่อัตรา 2,199 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +16.40 ม.รทก. ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จึงได้ขอให้โครงการฯ ปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในวันที่ 10 ต.ค. ทยอยจากอัตรา 2,199 ลบ.ม./วินาที เหลืออัตรา 2,150 ลบ.ม./วินาที และคงอัตราต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างการรับและประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ