เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์หรือ X ว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา เวลา 22.51 น. สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศผลเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) จำนวน 18 ประเทศ สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งปี 2568-2570 โดยเริ่มทำงานในฐานะสมาชิกวันแรก คือ วันที่ 1 ม.ค. 2568

โดยรายชื่อ 18 ประเทศที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกยูเอ็นเอชอาร์ซี ประกอบด้วย 1.เบนิน 2.รัฐพหุชนชาติโบลิเวีย 3.โคลอมเบีย 4.ไซปรัส 5.เช็กเกีย 6.สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 7.เอธิโอเปีย 8.แกมเบีย 9.ไอซ์แลนด์ 10.เคนยา 11.มาร์แชลไอร์แลนด์ 12.เม็กซิโก 13.มาซิโดเนียเหนือ 14.กาตาร์ 15.เกาหลีใต้ 16.สเปน 17.สวิตเซอร์แลนด์ 18.ไทย

ขณะที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2568-2570  และขอขอบคุณประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิกอาเซียนที่สนับสนุนและไว้วางใจประเทศไทยให้ไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว การที่ไทยได้รับตำแหน่งสมาชิกยูเอ็นเอชอาร์ซีได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่น และการยอมรับในบทบาทของไทยในเวทีโลก ขณะที่ประเทศไทยจะเป็นสะพานเชื่อม และประสานความแตกต่างของท่าทีของประเทศสมาชิก เพื่อช่วยแสวงหาทางออกและฉันทามติ โดยอาศัยจุดแข็งของไทยที่มีมุมมองในหลายเรื่องที่ก้าวหน้า ขณะเดียวกันไทยจะนำแนวปฏิบัติที่ดีของเรา อาทิ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล ไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศและหุ้นส่วนต่างๆ โดยจะช่วยส่งเสริมสถานะของไทยให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมในประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงยกระดับมาตรฐานด้านกระบวนการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงการนำกระบวนการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของระหว่างประเทศ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของไทยต่อไป

นายมาริษ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและประสงค์จะผลักดันในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ มีทั้งการมีส่วนร่วมในการกำหนดบทบาทและทบทวนทิศทางการดำเนินงานของคณะมนตรีฯ เพื่อให้ตอบสนองต่อความท้าทายของโลกและความท้าทายใหม่ๆ ในด้านสิทธิมนุษยชนในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสนับสนุนให้คณะมนตรีฯ มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าและพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนมีสมาชิกจำนวน 47 ประเทศ จากกลุ่มภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ กลุ่มแอฟริกา 13 ประเทศ, กลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ, กลุ่มยุโรปตะวันออก 6 ประเทศ, กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 8 ประเทศ และกลุ่มยุโรปตะวันตก 7 ประเทศ โดยประเทศไทยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ วาระปี 2568-2570 ซึ่งต้องแข่งขันกับ 6 ประเทศ ได้แก่ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไซปรัส กาตาร์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไทย ซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสมาชิกทั้งหมด หรือ 97 คะแนน และจะต้องได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 5 ลำดับแรกของกลุ่มภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ระหว่างปี 2553-2556 โดยประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ ระหว่างเดือน มิ.ย. 2553–มิ.ย. 2554 ซึ่งไทยได้ริเริ่มการเสนอข้อมติรายปีหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชนในกรอบคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ยกร่างของข้อมติดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน