เมื่อวันที่ 10 ต.ค.67 นายชัย วัชรงค์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือกับนางนวลละออง ศรีชุมพล นายกสมาคมผู้ส่งออกและนำเข้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ไทยและคณะ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาส่งออกโคเนื้อของไทย สรุปสาระสำคัญดังนี้ผู้แทนการค้าไทยและนายกสมาคมผู้ส่งออกและนำเข้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ไทย หารือถึงปัญหาการส่งออกโคเนื้อในปัจจุบัน ที่มีปัญหาราคาตกต่ำ การระบายโคมีชีวิต รวมถึงปัญหาของการใส่สารเร่งเนื้อแดง

โดยรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกโคเนื้อของไทยอย่างต่อเนื่อง และแสวงหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการประชุมกับผู้ประกอบการ เกษตรกร โคนม และสมาคมที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นายกสมาคมฯ ได้เสนอแนะถึงแนวทางในการเปิดตลาดโคเนื้อของไทย ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น โดยเฉพาะในมาเลเซีย และเวียดนาม โดยส่วนของมาเลเซียนั้น มีแนวโน้มที่ดีต่อความร่วมมือของไทย พร้อมทั้งมีการส่งเสริมในเรื่อง Halal hub แต่ก็มีข้อกำหนดเรื่อง สารเร่งเนื้อแดง และอินเดียที่เป็นเจ้าตลาดเนื้อโคแช่แข็งอยู่ในมาเลเซียฝั่งแผ่นดินใหญ่ ทำให้ไทยเริ่มจากการเจาะตลาดบริเวณรัฐซาบาห์เป็นหลัก ทั้งนี้ ไทยมีแผนที่จะส่งโคมีชีวิตจากไทยไปยังมาเลเซีย เพื่อเติมเต็มในส่วนที่มาเลเซียต้องการเพิ่มจำนวนโคเนื้อแดงเพื่อนำไปเลี้ยงในประเทศให้ได้ 30%

โดยทางสมาคมผู้ส่งออกและนำเข้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ไทย มีแผนในการลงทุนในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ในโครงการ “โคไทย ปลอดภัย ไม่ใช้สารเร่ง” ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงการใช้สารเร่งเนื้อแดง และวัคซีน เพื่อให้ตลาดผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าจะได้บริโภคเนื้อโคที่ปลอดสาร โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจสอบ ทางสมาคมฯจะออกใบรับรองให้ จะทำให้สามารถส่งออกได้รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าปกติในส่วนของตลาดเวียดนาม เป็นโอกาสอันดีของไทยในการเข้าไปเปิดตลาด เนื่องจากมีความต้องการประเภทของเนื้อแดง ที่เป็นเนื้อสด แต่เจอปัญหาว่า โคมีชีวิตที่ส่งไปขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควร เนื่องจากราคาเป็นไปตามราคาของตลาดเนื้อโลก

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยพร้อมเจรจากับภาคเอกชน และโรงเชือดที่เวียดนาม เพื่อให้เกิด Business Matching สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ด้านสมาคมฯ เสนอแผนให้มีการยื่นเรื่องเพื่อรับรองคอกกัก เหมือนการรับรองโรงเชือดไก่ และเสนอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงโคเนื้อ โดยการออกสินเชื่อ Soft loan เพื่อให้เกษตรกรมีทุนในการเลี้ยงโคเนื้อ และเพิ่มปริมาณการส่งออกได้ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ การระบายการส่งออกโคเนื้อ 10,000 ตัวต่อเดือน เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นจากราคารับซื้อเนื้ออย่างต่ำ 75 บาทต่อกิโลกรัม

ในช่วงท้าย ตนเน้นย้ำว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ อยากให้มีการระบายโคเนื้อในไทยสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อทำให้เกษตรกรได้ขายโคเนื้อได้ราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการพอใจ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้มีแหล่งเงินทุนช่วยสนับสนุน รวมถึงเพิ่มการเปิดตลาดในต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลพยายามแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย และกำลังพยายามจับคู่ธุรกิจ พัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อพัฒนามาตรฐาน ทั้งนี้ สมาคมฯ พร้อมทำงานร่วมกับผู้แทนการค้าไทยในการทำแผนการเพื่อให้มีช่องทางค้าขายได้มากขึ้น และพร้อมหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป