รัสเซลล์ เอ็ดเวิร์ดส์ นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญคดีฆาตกรรมโดยฆาตกรปริศนาเจ้าของฉายา “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” เผยภาพจำลองใบหน้าของผู้ต้องสงสัยอันดับที่ 1 ในมุมมองของเขา ว่าน่าจะเป็นฆาตกรตัวจริง พร้อมกับหนังสือของเขา “Naming Jack The Ripper” ที่กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง

เอ็ดเวิร์ดส์ เชื่อว่า “แอรอน คอสมินสกี” ช่างตัดผมชาวโปแลนด์ ผู้อพยพมาอยู่ในกรุงลอนดอน ระหว่างที่เกิดคดีฆาตกรรมต่อเนื่องสุดสะเทือนขวัญในย่านอีสต์ลอนดอน เมื่อ 136 ปีก่อน คือฆาตกรตัวจริง 

นักเขียนหนุ่มใหญ่ อาศัยเทคโนโลยีไฮเทคของยุคปัจจุบัน และภาพถ่ายของสมาชิกครอบครัวของคอสมินสกี เป็นข้อมูลอ้างอิงในการสร้างภาพจำลองจากคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องสงสัยรายสำคัญรายนี้ หลังจากที่เขาเคยตีพิมพ์ภาพจำลองใบหน้าของช่างตัดผมคนนี้ด้วยวิธีการอื่น ในหนังสือที่เขาเขียนขึ้น

ภาพของคอสมินสกี ผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็น “แจ็ค เดอะ ริปเปอร์” จากการจำลองภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ คือฆาตกรต่อเนื่องผู้ลึกลับที่ยังไม่สามารถยืนยันตัวตนที่แท้จริงได้อย่างเป็นทางการจากศตวรรษที่ 19 เขาลงมือสังหารเหยื่ออย่างน้อย 5 คน ซึ่งเป็นโสเภณีทั้งหมด ด้วยการเชือดคอและชำแหละช่องท้องอย่างน่าสยดสยอง เหตุฆาตกรรมล้วนเกิดขึ้นในย่านไวท์แชเพล กรุงลอนดอน ช่วงเวลาระหว่างเดือน ส.ค.-พ.ย. ปี ค.ศ. 1888 

เอ็ดเวิร์ดส์อ้างว่า เมื่อ 10 ปีก่อน เขาได้เครื่องใช้ของเหยื่อฆาตกรรมรายหนึ่ง มาจากการประมูลในปี ค.ศ. 2007 เป็นผ้าคลุมไหล่เปื้อนเลือด ซึ่งเชื่อว่าเป็นสมบัติของ แคเธอรีน เอดโดว์ส หนึ่งในโสเภณีที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรม

หลุมศพของ แคเธอรีน เอดโดว์ส

นักเขียนผู้เชี่ยวชาญคดีของฆาตกรมือเชือดแห่งไวท์แชเพล เล่าว่า เขาส่งชิ้นส่วนของผ้าคลุมไหล่ที่เปื้อนเลือดไปทดสอบหาดีเอ็นเอ โดยอาศัยการเปรียบเทียบดีเอ็นเอจากลูกหลายของ เอดโดว์ส เพื่อพิสูจน์ว่าผ้าคลุมไหล่ผืนนี้เป็นของเธอจริง ๆ 

เอ็ดเวิร์ดส์ ยังเขียนถึงผู้ต้องสงสัยในหนังสือของเขาว่า ดร.โรเบิร์ต แอนเดอร์สัน หัวหน้าแผนกสืบสวนคดีอาชญากรรมของกรุงลอนดอนในยุคนั้น มีความสงสัยอยู่แล้วว่า คอสมินสกีจะเป็นผู้ก่อเหตุ โดยอ้างอิงถึงรายงานของฝ่ายตำรวจที่เคยตีพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1894 ว่า ทีมสืบสวนเชื่อว่า คอสมินสกีมีความเกลียดชังเพศหญิงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มโสเภณี รวมทั้งมีแนวโน้มสูงว่าเป็นผู้ที่สามารถก่อเหตุฆาตกรรม กระนั้น ก็ไม่เคยมีการจับกุมคอสมินสกีอย่างเป็นทางการ และในที่สุด เขาก็เสียชีวิตในโรงพยาบาลบ้า

นอกจากนี้ นักเขียนชาวอังกฤษยังอ้างว่ามี “ทฤษฎีสมคบคิด” ในการปิดบังตัวตนของฆาตกร และอ้างว่าตัวการของกระบวนการนี้คือองค์กร “ฟรีเมสันส์” ซึ่งพี่ชายของคอสมินสกีเป็นสมาชิก และความสัมพันธ์นี้ ทำให้ไม่มีการจับกุมตัวคอสมินสกี จากนั้นก็ส่งเขาไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้า เพื่อควบคุมตัวไว้ แทนการส่งให้ตำรวจเพื่อพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย

ไม่ว่าอย่างไร ตัวตนของแจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ก็ยังไร้บทสรุปที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาตั้งข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของผลการตรวจสอบดีเอ็นเอจากผ้าคลุมไหล่ที่เอ็ดเวิร์ดส์ดำเนินการ พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะยังมีดีเอ็นเอหลงเหลืออยู่บนผ้าคลุมไหล่ ทั้งที่เวลาล่วงเลยมามากกว่าศตวรรษ หรือถ้ายังมีอยู่จริง ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีการปนเปื้อนดีเอ็นเอของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่บนผ้าคลุมไหลผืนนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 120 ปี ก่อนที่จะมีการส่งชิ้นส่วนไปทดสอบ

ที่มา : mirror.co.uk

เครดิตภาพ : Facebook / russell.s.edwards.7