เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 9 ต.ค. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ (National Convention Centre: NCC) เวียงจันทน์ สปป.ลาว  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ) โดยนายกฯ กล่าวเห็นพ้องและมีความกังวลที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกอาเซียน เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และอาเซียนจะต้องมีจุดยืนที่เป็นหลักการแต่ไม่เลือกข้างในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาชน ขณะที่การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ ทะเลจีนใต้ถือเป็นจุดความขัดแย้ง ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสรุปการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ที่มีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

นายกฯ กล่าวว่า ไทยมีความกังวลเช่นเดียวกันกับทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงวิกฤติด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ไทยสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการบรรลุข้อตกลงการหยุดยิง การปล่อยตัวพลเรือนทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงพลเมืองอาเซียน ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีข้อจำกัด ประเทศไทยสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ เพื่อบรรลุแนวทางสองรัฐ  สำหรับประเด็นเมียนมา ทำให้ความสำคัญสูงสุด ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ตั้งแต่ผู้พลัดถิ่น การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การหยุดชะงักทางการค้าและการดำรงชีวิต ปัญหาสุขภาพของประชาชน ไปจนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดและการหลอกลวงออนไลน์ 

นายกฯ ยังกล่าวหยิบยก 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ไทยจะทำงานร่วมกับมิตรประเทศในอาเซียน และภายนอกเพื่อเมียนมาที่สงบสุข มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคนี้ 2.ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมา โดยจะเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับเมียนมา และสนับสนุนกระบวนการอาเซียนต่อไป 3.อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียวในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมาว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ทางออก เป็นเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน ประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและหาทางออกทางการเมือง  และ 4. อาเซียนควรเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้นและเร่งการพัฒนาเมียนมาในระยะยาว โดยประเทศไทยได้บริจาคเงิน 290,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับศูนย์ AHA เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวเมียนมามากขึ้น 

จากนั้นเวลา 13.30 น. น.ส.แพทองธาร กล่าวปาฐกถาในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter – Parliamentary Assembly : AIPA) ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 1 NCC  โดยนายกฯ กล่าวถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ว่า ความพยายามของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง AIPA ซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงของประชาชนอาเซียน จึงมีบทบาทสำคัญ ซึ่ง AIPA จะเสริมความเข้มแข็งในประชาคมอาเซียนใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.การบูรณาการอย่างกลมกลืน เพื่อการบูรณาการผ่านความเชื่อมโยงเพื่อสร้างอาเซียนที่ไร้รอยต่อ 2.กรอบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงของมนุษย์  โดยข้อตกลงอาเซียนและการนำไปบังคับใช้ ส่งผลถึงความท้าทายข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการหลอกลวงออนไลน์ จึงต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่ากฎหมายและข้อบังคับต้องเท่าทันแนวโน้มและความท้าทายที่เปลี่ยนแปลง 

นายกฯ กล่าวต่อว่า  3.การส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน รัฐสภามีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ของอาเซียนและอัตลักษณ์ของอาเซียน ซึ่งในปี 2025 อาเซียนจะเปิดตัววิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2045 (ASEAN Community Vision 2045) อย่างไรก็ตาม ยืนยันสนับสนุน AIPA รวมทั้งการมีส่วนร่วมระหว่าง ASEAN และ AIPA ผ่านสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อการทำงานร่วมกันในช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้.