เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรค และกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย ให้ความเห็นใน “คดีตากใบ” ที่กำลังเป็นประเด็นทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ว่าเสียงระเบิดคาร์บอมบ์เกิดขึ้นบริเวณใกล้บ้านพักนายอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา สะท้อนนัยทางการเมืองทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจรวมถึงการเมืองระหว่างประเทศที่ประเทศมหาอำนาจกำลังสร้างสงครามเย็นกันอยู่ โดย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อยู่ในจุดล่อแหลมทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกด้วยจุดหนึ่ง      

นายชวลิต กล่าวอีกว่า เหตุคาร์บอมบ์สะท้อนนัยทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น จะเห็นได้จากจุดที่เกิดระเบิดคาร์บอมบ์ผู้ก่อเหตุตั้งใจวางใกล้บ้านพักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดนราธิวาส ที่สำคัญวัน เวลาเกิดเหตุ เกิดก่อนถึงวันที่อายุความ “คดีตากใบ” จะสิ้นสุดลงใน 25 ต.ค. ที่จะถึงนี้ เป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงรัฐบาลและสังคมว่า ประชาชนในพื้นที่จำนวนหนึ่งต้องการพิสูจน์ “ความเป็นธรรม” ที่เขาถามหา และติดตามคดีนี้อยู่ คงจะต้องตัดตอนความเป็นมาของ “คดีตากใบ” ให้สั้นเข้า เพราะสามารถหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ได้ไม่ยาก ส่วนที่จะเริ่มให้ความเห็นในวันนี้ก็ คือ เมื่อศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้อง อันแสดงว่าศาลชั้นต้นเห็นว่า “คำฟ้องมีมูล” อย่างไรก็ตาม เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ สมควรเข้าต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม หากหลบหนีไม่ไปศาลตามหมายเรียกหรือหมายจับ สังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศย่อมเชื่อว่า หนีความผิด ทั้ง ๆ ที่หากเข้ามาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ย่อมเป็นไปตามหลักฐานที่โจทก์และจำเลยจะนำมาต่อสู้ในคดี     

นายชวลิต กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฝ่ายบริหารซึ่งก็คือ รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง “ชาติ พรรค และบุคคล” ให้ดี แน่นอน ผู้ที่มีวุฒิภาวะ “ชาติ” ต้องมาก่อน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องแสดงความ “จริงใจ” ขวนขวายทุกวิถีทางที่จะกำกับ ติดตามตัวจำเลยที่หลบหนี เพื่อนำมาสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในบ้านเมือง และทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งโจทก์และจำเลย        

นายชวลิต กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมา จากการให้สัมภาษณ์ของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งอยู่ฝั่งรัฐบาลล้วนให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องของบุคคล การตามตัวเป็นเรื่องของ จนท. ถือได้ว่า “พลาด” ไปแล้ว แต่ไม่ควรพลาดซ้ำแล้ว ซ้ำอีก เพราะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นก็เป็นแผลร้าวลึกมาจนทุกวันนี้    

ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ถ้านำ “ชาติ” มาเป็นที่ตั้งดังกล่าวข้างต้น ก็จะทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาอยู่ในจุดที่เหมาะสมต่อการสร้างความเป็นธรรม และสร้างความเข้าใจระหว่างกัน และในฐานะที่ตนเคยอยู่ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ผ่านมา ได้จัดทำรายงานการศึกษา จำนวน 2 ฉบับ คือ 

1. รายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบกับรายงานฯ เมื่อ 19 ส.ค. 63     

2. รายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ เพื่อการพัฒนา สร้างสันติสุขและประชาธิปไตยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรายงานฉบับนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) สั่งบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมฯ แล้ว แต่หมดสมัยประชุมก่อน       

รายงานการศึกษาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ล้วนเสนอแนะให้ฝ่ายบริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายการเมืองนำการทหาร ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์สำหรับ “คดีตากใบ” นับจากนี้ไป ผมขอให้ความเห็นต่อแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยความสุจริตใจ ดังนี้     

1. รัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษประชาชน (Public Apology) ต่อเหตุการณ์ “คดีตากใบ” ในอดีต แม้เหตุการณ์จะผ่านพ้นไปนานเพียงใดก็ตาม      

ดังนั้นการให้ความเห็นดังกล่าว ผมนำมาจากรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ โดยในรายงาน หน้าที่ 13 ข้อที่ 7 ให้ข้อสังเกตว่า       

“ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฯลฯ ควรกล่าวขอโทษต่อสาธารณชน (Public Apology) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศขณะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง และนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน ควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะต่อเหยื่อของความรุนแรง เนื่องจากรัฐมีความบกพร่องและขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองให้ดำเนินไปตามสันติวิธี จนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และความรู้สึกของประชาชนอย่างมาก รวมทั้งแสดงเจตจำนงที่จะประกันความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน โดยพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและช่วยรักษาบรรยากาศของการปรองดองในประเทศให้ดียิ่งขึ้น จึงต้องให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าการยอมรับผิดชอบและการขอโทษเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่จะนำไปสู่ความปรองดองในชาติ ทั้งนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านพ้นไปนานเพียงใดก็ตาม” (อ้างอิงรายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), 2555 : 244)           

2.รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรขวนขวาย กระตือรือร้น ในการสืบหาตัวจำเลยที่หลบหนีหมายศาลเพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลอย่างถึงที่สุดก่อนจะหมดอายุความ 3. รัฐบาลควรปรับแนวทางในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนโยบายและโครงสร้าง โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และนำนโยบายการเมืองนำการทหาร ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งรวมไปถึงการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยสันติภาพด้วยความจริงใจ เพื่อแก้ไขลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ โดยยึดหลักการ “ให้อภัย” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในคำสอนของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม (รวบรวมจากรายงานการศึกษาของ กมธ. ดังกล่าวข้างต้น)

นายชวลิต กล่าวอีกว่า วันนี้ (10 ต.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง “คดีตากใบ” โดยเชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลกับ กมธ. มีข้อสังเกตว่ามีอุปทูตประเทศติมอร์เลสเต มีหนังสือจากสถานทูตขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ซึ่งประธาน กมธ. ได้หารือที่ประชุมแล้วมีมติอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์ได้ ส่วนอีกหลายประเทศเป็น จนท. ประจำสถานทูตที่ไม่ได้มีหนังสือนำจากสถานทูตมาแสดง ก็จัดสถานที่เป็นสัดส่วนให้ต่างหากนอกห้องประชุม กมธ. โดยให้ติดตามจากการไลฟ์สดของสื่อมวลชนที่มาติดตามข่าวจำนวนมากแสดงว่า “คดีตากใบ” อยู่ในความสนใจของนานาชาติที่รัฐบาลต้องตระหนักกับความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศในท้ายที่สุดผมขอให้ความเห็นด้วยความสุจริตใจว่า “คดีตากใบ” ถือเป็นวิกฤติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบจะครบ 20 ปี ใน 25 ต.ค. นี้ รัฐใช้งบประมาณและทรัพยากรไปมากมายในการแก้ไขปัญหา ขณะที่ประชาชนกลับยากจน ในท่ามกลางความยากจน ประชาชนกลับต้องการ “ความยุติธรรม” รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อคำนึงถึง “ชาติ” ต้องให้ “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนให้จงได้       

ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ควรคำนึงถึง “ชาติ” เช่นกัน เมื่อ Peace Survey โดยสถาบันพระปกเกล้า เคยสำรวจความเห็นประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็ควรรักษาสิทธิของตนเองไม่ให้ผู้ที่มีความเห็นต่างส่วนน้อย ทั้งจากภายในประเทศและที่อาจแทรกแซงจากต่างประเทศมาสร้างความไม่สงบในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเห็นหลากหลายทางการเมืองก็ควรใช้ช่องทางรัฐสภา ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน เข้ามาทำหน้าที่ผลักดันนโยบายพัฒนาพื้นที่ของตนเองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยต่อไป