เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ภาคอีสานตอนบนเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ปริมาณน้ำฝนน้อยลง ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกยางพารา พร้อมกรีดยางออกขาย เนื่องจากปีนี้ราคายางพาราดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดย นางกมลลักษณ์ แผงสมบูรณ์ ชาวสวนยางพารา บ้านนาดี ต.นาหัวบ่อ อ.พรรณนานิคม บอกว่า ช่างนี้ชาวสวนยางพาราต่างเร่งกรีดยาง เนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้กรีดไม่ได้เพราะฝนตกชุก ประกอบกับราคายางก้อนถ้วยมีราคาดีขึ้น ซึ่งจากหลายปีที่ผ่านมาราคาอยู่ที่ 18-19 บาทต่อกิโล ขณะนี้ชาวสวนยางต่างดีใจราคาอยู่ที่ 31-32 บาท นับเป็นการสร้างรายได้เป็นอย่างมาก

นายสถาพร หลาบเงิน กยท.จ.สกลนคร กล่าวว่า ช่วงนี้ราคายางอยู่ในภาวะทรงตัว มีการปรับลดลงเล็กน้อยจากเรื่องกฎหมาย EUDR ที่เลื่อนส่งยางไปอีก 12 เดือน จากเดิมจะเริ่ม 1 ม.ค. 68 เป็นเริ่ม 1 ม.ค. 69 ทำให้ราคายางที่จะส่งออกในภาคยุโรป ได้มีราคาลดลงประมาณ 5 บาท จากราคาเมื่อวานนี้ (8 ต.ค. 67) แต่ราคายางทั่วไปที่เป็นราคา non – EU ที่โรงงานซื้อขายกันอยู่ ปัจจุบันลดลง 3 บาท (ราคาเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 67) ยางก้อนถ้วยแห้ง 100 เปอร์เซ็นต์ จากราคา 60 บาท เหลือ 57 บาท ซึ่งยางก้อนถ้วยแห้ง มีเนื้อยางประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ถ้าราคา 60 บาท จะได้ราคายาง 36 บาท แต่ถ้าราคายางเหลือ 57 บาท ราคายางก็จะเหลือ 38.20 บาท โดยราคานี้เป็นราคายางพักค้างคืนที่ประเมิน ณ จุดขาย ยางราคา 38.20 บาท ก็จะถูกหักค่าขนส่ง ค่าบริหารจัดการต่างๆ อีกประมาณ 1.50 บาท ก็จะเหลืออยู่ประมาณ 36-37 บาท ซึ่งปัจจุบันคือราคานี้ สอดคล้องราคายางที่ประมูลได้ราคาประมาณ 36-37 บาท แล้วแต่กลุ่ม แล้วแต่ปริมาณยาง แล้วแต่ความใกล้ไกลของกลุ่มที่เดินทางมายังโรงงาน

สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา ยางที่ลานขายถึงราคาประมาณ 33 บาท แต่วานนี้เหลืออยู่ 31 บาท ทางเราประมาณว่าราคายางที่เกษตรกรขายได้ราคา 30 บาทขึ้นไป ก็มีความคุ้มค่าคุ้มทุน เพราะผลผลิตยางก้อนถ้วยของเกษตรกรที่ปลูกยางในจังหวัดสกลนคร อยู่ประมาณ 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเกษตรกรขายได้ 600 กิโลกรัมต่อไร่ ก็จะได้เงินไร่ละ 18,000 บาท โดยมีต้นทุนในการบำรุงรักษาเป็นปุ๋ยประมาณ 2 กระสอบ ราคาประมาณ 2,400 บาท รวมค่ากำจัดวัชพืชและค่าจัดการอื่นๆ ไม่เกินไร่ละ 3,000 บาท ทำให้เกษตรกรจะได้เงินหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 15,000 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งรายได้ของเกษตรกรคุ้มค่าต่อการลงทุน