นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายกับฝ่ายบริหารของ  บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ในการเร่งหารายได้ใหม่ๆ หลังจากคลื่นความถี่ที่ถือครอง จำนวน 4 คลื่นต้องสิ้นสุดการอนุญาตใช้งานในวันที่ 3 ส.ค. 68 ซึ่งจะทำให้รายได้ของเอ็นทีจะลดลงกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยให้มุ่งไปที่เทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ จากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้มีการใช้ Go Cloud First เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างบริการคลาวด์จากเอกชนที่ผ่านมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งเอ็นทีมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยีนี้อยู่แล้ว จากการสนับสนุนของรัฐบาล จะช่วยให้สามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนที่เข้ามาในตลาดนี้ได้ ซึ่งจากการสนับสนุนของรัฐบาล จะทำให้เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของเอ็นทีในอนาคต

นอกจากนี้ยังเร่งให้พัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทมิเตอร์ (Smart Meter) เพื่อให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ คือ การไฟฟ้าและการประปา ทั้งในส่วนนครหลวง และภูมิภาค  โดยสมาร์ทมิเตอร์ของ เอ็นที เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยี อาร์เอฟไอดี RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งเป็นคลื่นวิทยุระยะสั้น ทำให้สามารถตรวจวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องใช้พนักงานมาตรวจสอบ นอกจากนี้ ระบบนี้ยังสามารถแจ้งเตือนกรณีที่เกิดความผิดปกติในการใช้งาน เช่น การรั่วซึมของน้ำ ซึ่งจะช่วยประหยัดทรัพยากร กำลังคนและลดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานได้

“ผมได้มีโอกาสหารือคุยกับท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้ว ให้ช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ เพื่อให้เอ็นทีมีรายได้ใหม่ๆ ในระยะยาว โดยกำลังอยู่ในระหว่างการเสนอโครงการให้กับหน่วยงานรัฐเพื่อขยายการใช้งานในระดับประเทศต่อไป”

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งโครงการสำคัญ คือ การบริหารจัดการซอฟต์แวร์และระบบอี-ออฟฟิศ (e-Office) ซึ่งรัฐบาลมีนโยบาย รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐทุกแห่งยกระดับการให้บริการประชาชน ลดการใช้กระดาษ ซึ่งระบบอี-ออฟฟิศ  ของเอ็นที จะเป็นระบบไร้กระดาษ (paperless) ที่ถูกนำมาใช้ในหน่วยงานภาครัฐ ระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้การดำเนินงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย เอ็นที ได้พัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ที่ใช้ในระบบ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับคลาวด์ของเอ็นที ได้ เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลและการใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่นตามนโยบาย Cloud First และมีระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่ปลอดภัยรองรับ

“ในปีนี้ทางเอ็นที จะมีการออกแคมเปญใหญ่เพื่อเชิญชวนให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐเข้ามาใช้ระบบ e-Office อย่างแพร่หลาย รวมถึงในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ไร้กระดาษเต็มรูปแบบ หากทุกหน่วยงานนำระบบนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย เอ็นที จะมีโอกาสในการเพิ่มรายได้จากการขายซอฟต์แวร์และบริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลในคลาวด์”  นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ให้เอ็นทีหาโอกาสใหม่ๆ ในการร่วมทุนกับภาคเอกชน  โดยปัจจุบัน เอ็นที ได้ถือหุ้นในหลายบริษัท เช่น บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเน็ต (INET) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีคลาวด์และซอฟต์แวร์  โดยทาง เอ็นทีมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ประมาณ 24% และได้รับผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทนี้ แม้ว่าบางครั้ง เอ็นที และ ไอเน็ต จะต้องแข่งขันกันในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการคลาวด์และซอฟต์แวร์ แต่ก็จะมีการแบ่งแยกตลาดระหว่างกันอย่างชัดเจน โดย ไอเน็ต มุ่งเน้นตลาดภาคเอกชน ในขณะที่ เอ็นที ให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก

“เอ็นที ต้องเร่งหารายได้ใหม่ๆ ด้วยการพัฒนาโครงการต่างๆ เพราะมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตหลังจาก 4 คลื่นความถี่ หมดอายุใบอนุญาต คือ คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์, คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์, คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์  และ คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ รายได้หลักที่มาจากคลื่นความถี่หายไป ขณะที่ธุรกิจมือถือของเอ็นที ยังไม่สามารถสร้างรายได้เท่าที่คาดหวัง จากความยากลำบากในการแข่งขันกับเอกชน ขณะที่การให้บริการในโครงการคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.ที่ยังเหลืออยู่ ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้งานได้เต็มที่ จึงต้องมีแผนเพิ่มรายได้ใหม่ๆ ด้วย”  นายประเสริฐ กล่าว