ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังคงอยู่ในขั้นวิกฤติ จนสร้างความเสียหาย และความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่วิตกกังวลกับการขยายตัวของพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่องนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ต.ค. โลกออนไลน์ได้เกิดกระแสพูดถึงกันเป็นอย่างมาก ภายหลังจากที่ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุ “น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่สาเหตุสำคัญคือฝนตกหนักบนดอยที่ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว…”

1.สาเหตุของน้ำท่วมหนักในเมืองเชียงใหม่เกิดจากฝนตกหนักหลายวันโดยช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567 มีฝนหนักติดต่อกัน 3 วันวัดปริมาณน้ำฝนได้ 200 ถึง 300 มิลลิเมตร ทั้งที่ไม่มีพายุเข้าแต่เกิดจากมวลอากาศเย็นเคลื่อนลงมาจากแผ่นดินใหญ่มาปะทะร่องมรสุมความกดอากาศต่ำ (อากาศร้อน) ที่พาดผ่านทำให้เกิดฝนตกหนักในเขตอำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริมและอำเภอพร้าว จนเกิดน้ำท่วมอย่างหนักในพื้นที่ราบเชิงเขาของอำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตงและอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยทั้งแม่น้ำแม่งัด แม่น้ำแม่แตงและแม่น้ำปิงมีปริมาณน้ำไหลเชี่ยวกรากลงมาท่วมพื้นที่เมืองเชียงใหม่

2.แม่น้ำปิงมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาผีปันน้ำในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไหลลงมาทางทิศใต้ผ่านหุบเขาเข้าสู่เขตอำเภอแม่แตง มีแม่น้ำแม่งัดไหลมาบรรจบทางฝั่งซ้ายและน้ำแม่แตงไหลมาบรรจบทางฝั่งขวาเข้าสู่พื้นที่ราบลุ่มผ่านอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และมีน้ำแม่กวง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำปิงไหลมาบรรจบทางฝั่งซ้าย บริเวณพื้นที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จากนั้นแม่น้ำปิงจะไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้โดยมีแม่น้ำลี้ ซึ่งไหลผ่านจากอำเภอลี้ มาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่อำเภอจอมทองทางฝั่งซ้ายและจากอำเภอจอมทอง แม่น้ำปิงจะไหลลงไปทางใต้โดยมีแม่น้ำแม่แจ่มไหลมาบรรจบทางฝั่งขวาที่อำเภอฮอด ก่อนจะไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

เมื่อเกิดฝนตกหนักติดต่อกันยาวนานในพื้นที่ต้นน้ำจะเป็นผลให้ระดับน้ำและปริมาณน้ำในแม่ปิงสะสมตัวเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้เคียง เกิดอุทกภัยสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่บ้านเรือน ชีวิตและทรัพย์สินขึ้นได้ โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อปริมาณน้ำเพิ่มสูงเกินความจุของลำน้ำโดยความจุของน้ำปิงที่ตัวเมืองเชียงใหม่คือ 440 ลบ.เมตร/วินาที และระดับวิกฤติที่น้ำจะเริ่มล้นฝั่งไหลท่วมอยู่ที่ 3.70 เมตร

3.ปี 2566/67 จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 285,004 ไร่ ที่อำเภอเชียงดาวมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 19,878 ไร่ และอำเภอแม่แตงมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 1,636.75 ไร่ ส่วนใหญ่จะปลูกบนดอยสูง นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำป่าบนภูเขาต้นน้ำไหลลงมาได้รวดเร็วและเชี่ยวกรากไหลลงมาท่วมพื้นที่ราบเชิงเขาได้

“…หากฝนตกบนภูเขาที่เต็มไปด้วยป่าใหญ่ น้ำฝนจะขังอยู่ในป่าประมาณเก้าส่วน อีกหนึ่งส่วนไหลลงข้างล่าง และค่อยๆไหลรินไปหล่อเลี้ยงผู้คนด้านล่างตลอดทั้งปี แต่หากเป็นภูเขาหัวโล้น น้ำฝนจะขังอยู่หนึ่งส่วน อีกเก้าส่วนไหลลงข้างล่างทำให้เกิดมหาอุทกภัยใหญ่หลวง…”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Sonthi Kotchawat