งานเสวนา เรื่อง “Pathways to Sustainable Urban Future เส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน” และ “Time to CHANGE : Shaping Bangkok’s Future เปลี่ยนวันนี้ เพื่ออนาคตกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน” นำผู้นำภาครัฐ และเอกชนที่ทำโครงการพัฒนาเมืองมาพบกัน แชร์ความก้าวหน้าการพัฒนากรุงเทพฯ เมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศให้เป็นเมืองเดินได้ เดินถึง พร้อมส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ลดมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ชีวิตประจำวัน

เริ่มจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่าในมุมมองของกรุงเทพฯว่า สถิติโลกในปี 2566 กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 98 เพราะปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะการจราจร การขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ นานา ซึ่งการพัฒนาเมืองก็เหมือนพัฒนาร่างกายคน โปรเจ็กต์ใหญ่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ส่วนตรอก ซอย ชุมชน เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย ก่อนหน้านี้กทม. เน้นทำแต่โปรเจ็กต์ใหญ่ เงินลงทุนสูง กว่าจะได้มาแต่ละโปรเจ็กต์นั้นยาก

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมากทม.เน้นการดำเนินตามแผนปฏิบัติการ เป็นการพัฒนาเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯ เช่น การปรับปรุงทางเท้า ปรับปรุงฝาท่อระบายนํ้าให้สวยงามสะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละเขต พัฒนาทางจักรยาน แผนสร้างสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ชุมชน ประชาชนสามารถเดินทางจากบ้านหรือที่ทำงานไปถึงได้ใน 15 นาที จำนวน 500 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งทำเสร็จแล้ว 120 แห่ง มีการลอกท่อระบายนํ้าทั่วกรุงเทพฯ จะเห็นได้ว่าเวลาฝนตกหนัก นํ้าไม่ท่วม อาจมีนํ้าขังระยะเวลาหนึ่ง แต่ระบายได้เร็วขึ้น มีการส่งเสริมการแยกขยะ จัดรถตุ๊ก ๆ ไฟฟ้าสำหรับขนขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ เป็นต้น”

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีเป้าหมายชัดเจน จึงจะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความยั่งยืนได้ และเริ่มขับเคลื่อนจากแผนงานเล็ก ๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ การศึกษา ประชาชน รวมทั้งความร่วมมือจากต่างประเทศ มาร่วมกันลงมือทำจริงจึงจะเกิดผล”

“นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมเรื่องการสร้างความยั่งยืนของเมืองในมิติของสุขภาพว่า หนึ่งในหัวใจหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ “คน” ต้องมีสุขภาพกายและใจดี ใช้ชีวิตดี มีอาหารที่มีคุณภาพรับประทาน อารมณ์ดี ออกกำลังกายสมํ่าเสมอ การได้อยู่อาศัยในเมืองที่มีระบบสาธารณูปโภคและเส้นทางที่เชื่อมโยงถึงกัน ชวนให้ประชาชนสัญจรด้วยการเดิน ผ่อนคลายกับสิ่งแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์ จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะที่ กทม. ลงมือเปลี่ยนแปลง ดำเนินโครงการพัฒนาในระดับเมืองและนโยบาย และกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้คนตระหนักถึงการใช้ชีวิตที่ดี มีสุขภาพดี ภาคการศึกษาเองก็ได้ทำวิจัย วางแผนพัฒนา “ย่าน” หรือชุมชนต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเสนอต่อภาครัฐให้รับแผนไปพัฒนาต่อให้เกิดผลจริง ๆ ได้

“รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล” ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การสร้างเมืองแล้วเดินเท้าไม่ได้ คือการขาดทุน ถ้าคุณอ้วน จน โสด สมองเสื่อม ให้โทษเมือง”ทางศูนย์ฯ ได้ศึกษาและทำแผนพัฒนาย่านต่าง ๆ เสนอต่อภาครัฐ และมีหลายโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การพัฒนา Medical District ที่จะมีสกายวอล์กตามแนวถนนราชวิถีย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อรองรับและให้ความสะดวกแก่คนอย่างน้อย 1.2 แสนคนต่อวัน ที่มาหาหมอที่โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลในบริเวณรอบ ๆ รวมทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และผู้คนที่มาต่อรถที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โครงการพัฒนาทางเดินที่มีหลังคา การพัฒนาเส้นทางเดินในจุดต่าง ๆ เช่น ถนนสุขุมวิทหลังโครงการ Cloud 11 ที่เปิดพื้นที่จากถนนใหญ่ไปตามซอยเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงร้านค้าในชุมชนก้นซอย เป็นต้น มีการพัฒนาถนนทางเดิน เชื่อมโยงความหลากหลายของย่านสีลม

หนึ่งในโครงการสำคัญคือ การเชื่อมโยงจากสวนเบญจกิติผ่านสะพานเขียวมายังถนนวิทยุ และเชื่อมต่อไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สามย่านซึ่งเป็นย่านการศึกษาใหญ่ของไทย ผ่านถนนพระราม 4 ซึ่งมีสวนลุมพินี ปอดใหญ่ของกรุงเทพฯ และโครงการวัน แบงค็อก
ที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ และจะเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นบนแกนของความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบพื้นที่ให้มีพื้นที่สีเขียวมาก มีการก่อสร้างที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะในระหว่างก่อสร้าง อาคารที่ลดการใช้พลังงาน และการเปิดพื้นที่ต่าง ๆ เชื่อมต่อกันเพื่อส่งเสริมให้คนเดิน และมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อสร้างสังคมที่แข็งแรง

“ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวว่า “การออกแบบอสังหาริมทรัพย์ คือการออกแบบคุณภาพชีวิต เราใช้คนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบ ให้โครงการของเราสามารถเชื่อมโยงคน สร้างปฏิสัมพันธ์ ส่งเสริมความสร้างสรรค์ในทุกเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น Pet Loop ที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ Art Loop ที่นำงานศิลปะมายก
ระดับคุณภาพชีวิต การเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง และการสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจอีกด้วย”

วรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการวัน แบงค็อก กล่าวเสริมว่า หนึ่งในความท้าทายของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ยั่งยืนคือ กฎหมายเนื่องจากกฎหมายการก่อสร้างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ส่วนกฎหมายเรื่องโซนนิ่ง ใช้มาตั้งแต่ปี 2556 ขณะที่แนวคิดและเทคโนโลยี ในการก่อสร้างในปัจจุบันพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จึงยังมีช่องว่างอยู่มาก การจะส่งเสริมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการสร้างเมืองที่เชื่อมโยงกัน เดินถึงกันได้ ต้องอาศัยกฎหมายที่ทันสมัยเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งอุตสาหกรรม

เชื่อว่า ต่อไปเมื่อแต่ละโครงการเสร็จสมบูรณ์ และต่อเชื่อมกันครบแล้วในอนาคต คนเมืองที่ “อ้วน จน โสด สมองเสื่อม” จะลดลง คนจะได้ใช้ชีวิตแบบแอ็กทีฟมากขึ้น ขยับตัวมากขึ้น เดินมากขึ้น และสามารถใช้ชีวิตที่มีคุณภาพในสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในเมืองที่เดินได้ เดินถึงต่อไป.

ขอบคุณภาพจาก Uddc