สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ว่าการหยุดงานประท้วงของผู้พิพากษา ซึ่งจัดโดยกลุ่ม “แนวร่วมของผู้พิพากษาอินโดนีเซีย” โดยมีผู้พิพากษาซึ่งใช้สิทธิลาพักร้อน ระหว่างวันที่ 7 ต.ค.-11 ต.ค. เข้าร่วม

ที่เมืองบันเติน ทางตะวันตกสุดของเกาะชวา ศาลแขวงเซรัง จำเป็นต้องเลื่อนการพิจารณาคดีอาญาและการทุจริต เนื่องจากไม่มีผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ศาลในเมืองเบกาซี ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตา สามารถพิจารณาคดีได้เพียง 4 วันทำการ

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนเพื่อนร่วมงานที่หยุดงานประท้วง ผู้พิพากษาซึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่ พร้อมใจกันติดริบบิ้นสีขาวที่แขนซ้ายของพวกเขา

นายซุลกิฟลี อัตโจ โฆษกศาลแขวงจาการ์ตาตอนกลาง ซึ่งยังคงพิจารณาคดีตามกำหนด กล่าวว่า บางคดีจำเป็นต้องสรุปเนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน “เราสนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ แต่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องจัดการไต่สวนบางกรณี เราไม่สามารถละเลยความรับผิดชอบในการให้บริการสาธารณะได้” เขากล่าว

รายงานระบุว่า ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีผู้พิพากษาประมาณ 7,700 คน ในจำนวนนี้มากกว่า 1,600 คนให้คำมั่นว่า จะเข้าร่วมการหยุดงาน และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้น

ตามข้อบังคับของรัฐบาลในปี 2555 เงินเดือนของผู้พิพากษาระดับล่างอยู่ที่ประมาณ 16.6 ล้านรูเปียห์ (ราว 35,492 บาท) ต่อเดือน แบ่งเป็นเงินเดือนขั้นพื้นฐานของผู้พิพากษาใหม่ 2 ล้านรูเปียห์ (ราว 4,264 บาท) พร้อมสวัสดิการเพิ่มเติมอีก 14.6 ล้านรูเปียห์ (ราว 31,206 บาท)

นอกจากปัญหาเรื่องค่าจ้าง บ้านพักข้าราชการ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ยังไม่เพียงพอ นอกจากนั้น ผู้พิพากษายังกังวลเกี่ยวกับการขาดความปลอดภัยขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย

นายเฟาซาน อาราสยิด โฆษกของกลุ่มผู้พิพากษาซึ่งหยุดงานประท้วงครั้งนี้ กล่าวว่า พวกเขาต่อสู้เพื่อยกระดับสวัสดิการมาอย่างน้อย 5 ปีแล้ว และการสไตรก์จะยังดำเนินต่อไป เนื่องจากไม่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง “เหล่าผู้พิพากษาทำด้วยความหนักใจ แต่เต็มไปด้วยความมั่นใจ” เขาย้ำ

นอกจากนี้ บรรดาผู้พิพากษาที่ประท้วง เรียกร้องให้สภาอินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมาย เพื่อกำหนดขอบเขตสำหรับการจ้างงานผู้พิพากษา ซึ่งเคยถูกหยิกยกมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี 2558 แต่ถูกระงับไปตั้งแต่ปี 2562

ร่างกฎหมายดังกล่าวจะระบุถึงสิทธิ และภาระผูกพันของผู้พิพากษา และกำหนดให้คณะกรรมาธิการมีส่วนร่วมในการสรรหา, เลื่อนตำแหน่ง และติดตามตรวจสอบผู้พิพากษา ตลอดจนลงโทษผู้ที่มีความผิดฐานละเมิดกฎหมาย.

เครดิตภาพ : AFP