เมื่อวันที่ 7 ต.ค. จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 แต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการกลับคืนสู่รั้วทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากประกาศยุติบทบาทของผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และกำหนดแนวทางฯ และพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งนายณัฐวุฒิเคยประกาศในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ว่า “ไม่เอาลุง” แต่ในปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกจากวงการการเมือง ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ในขั้วของ พล.อ.ประวิตร ได้ออกจากการร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

ย้อนดูประวัติการเมืองของ “เต้น ณัฐวุฒิ” เริ่มชีวิตทางการเมือง เมื่อปี 2544 ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ในนามพรรคชาติพัฒนา ต่อมาในปี 2549 เข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยร่วมทีมปราศรัยล่วงหน้าของ นายทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคในขณะนั้น  และได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโฆษกพรรคไทยรักไทย ต่อมา พรรคคัดเลือกให้ลงสมัคร สส. เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส. แต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 เสียก่อน จึงผลักให้ ณัฐวุฒิ รวมกลุ่มกับ วีระ มุสิกพงศ์ และจตุพร พรหมพันธุ์ ลงถนนประท้วงในนามกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)” ต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

กระทั่ง เมื่อปี 2551 พรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ให้เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง นายณัฐวุฒิ ยังคงมีบทบาทเป็นแกนนำกลุ่ม นปก. ซึ่งได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)” พร้อมเดินหน้านำมวลชนเสื้อแดง ลงถนนประท้วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงปี 2552-2553 มีการยึดพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ และใจกลาง กทม. รวมถึงเกิดเหตุการณ์เผาสถานที่สำคัญหลายแห่ง เกิดวาทะเด็ดของนายณัฐวุฒิ ว่า “เผาเลยครับพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” จนกระทั่งถูกจับกุมในข้อหาก่อการร้าย

แต่ชีวิตทางการเมืองของนายณัฐวุฒิ ไม่ได้จบลงแค่นั้น แต่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และปี 2557 นายณัฐวุฒิได้รับเลือกตั้งเป็นสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โดยระหว่างนั้น ในปี 2555 นายณัฐวุฒิ ได้รับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.พาณิชย์ ในการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดเดียวกัน ซึ่งขณะนั้น รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกโจมตีอย่างหนักจากปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

ต่อมาในปี 2562 ได้ลงสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ในนามพรรคไทยรักษาชาติ แต่พรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง จนกระทั่งปี 2565 ได้กลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และได้รับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย” โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวฯ และมีการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ว่า “ไม่เอาลุง” แต่สุดท้าย พรรคเพื่อไทยนำพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมรัฐบาลผสม นายณัฐวุฒิ จึงประกาศยุติบทบาทผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 และหันมาเปิดร้านอาหาร “เยี่ยมใต้” ซึ่งมีบุคคลสำคัญทางการเมืองแวะเวียนไปพบปะเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิ ยังได้ไปร่วมงานอุปสมบทของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

และล่าสุด นายณัฐวุฒิ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่จับตาว่า จะเป็นกุนซือค้ำบัลลังก์นายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร