นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ให้สามารถขอคืนเงินสูงสุดได้ 35% จากเดิมที่สามารถขอคืนเงินได้ 15-20%

หลังหลายประเทศออกมาตรการดึงดูดกองถ่ายหนังต่างชาติเข้าไปถ่ายทำ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ที่ขณะนี้มีดีมานด์สูง จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการสร้างแรงจูงใจเลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทางการถ่ายทำ ประกอบกับบางประเทศสามารถขอคืนเงินได้สูงสุด 30-50% 

นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า ได้รับการบ้านจาก รมว.การท่องเที่ยวฯ ให้ไปทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยเพื่อส่งเสริมให้กองถ่ายหนังต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งการทบทวนสิทธิประโยชน์ในการคืนเงินให้ก่องถ่ายหนังต่างชาตินั้น เคยมีการทบทวนแล้วในช่วงปี 66 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยครั้งนั้นคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ได้เห็นชอบทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งการปรับเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาตรการส่งเสริม 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ปรับอัตราการคืนเงิน จากเดิม 15-20% เป็น 20-30% เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยสิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ 20% เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกิน 10% โดยให้คำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยตรงเป็นลำดับแรก เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่า ค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง 

ขณะที่ส่วนที่ 2 เป็นการปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่อง เป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง จะทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนตร์ต่อเรื่อง เพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรองรับกับแนวโน้มที่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านเป็นการทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเท่านั้น ยังไม่ได้ประกาศใช้ ดังนั้นหากรัฐบาลจะทบทวนอีกครั้งก็สามารถทำได้เลยในกรณีที่จะขยายอัตราการคืนเงินสูงสุด 30% แต่ถ้าจะขยายเป็น 35% อาจจะต้องรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงบประมาณ สำนักงานกฤษฎีกา เป็นต้น 

“ถ้าปรับอัตราการคืนเงินกองถ่ายหนังต่างชาติสูงสุด 35% นั้น หรือต้องคืนเงินจากเดิมเพิ่มอีก 10-15% จะทำให้รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณเพื่อมาใช้ในมาตรการนี้เพิ่มเติมอีก 1,000 ล้านบาทต่อปีงบประมาณ จากเดิมที่ต้องตั้งงบประมาณไว้จ่ายเงินส่งเสริมปีละ 1,300 ล้านบาท รวมเฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ดังนั้นจะต้องดูด้วยว่าหากขยายเพดานสูงขนาดนี้จะคุ้มค่ากับเงินที่ได้รับหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยราว 6,000-7,000 ล้านบาท และมาตรการอำนวยควาสะดวก อุปกรณ์ และแรงงานทักษะ โลเคชั่น เรามีความพร้อมกว่าประเทศเพื่อนบ้าน” นายจาตุรนต์ กล่าว