เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 67 ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ได้ตอบกระทู้ถามของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เรื่อง การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 80,000 คน และศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา ได้สุ่มตรวจประชากรไทย เมื่อปี 2565 ในกลุ่มเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน พบสูบบุหรี่ไฟฟ้า 1,189 คน คิดเป็น ร้อยละ 17.6 เพิ่มจากการสุ่ม เมื่อปี 2558 พี่พบเพียงร้อยละ 3.3 หรือ 5 เท่า ซึ่งบทเรียนจากต่างประเทศ พบว่า ปัจจุบันมี 34 ประเทศ ที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เช่น สิงคโปร์ กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2561 ห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า หากพบ ปรับ 10,000 SGD หรือ 250,000 บาท และ/หรือ จำคุก 6 เดือน รวมถึงห้ามใช้ ห้ามซื้อ ห้ามครอบครอง หากพบ ปรับ 2,000 SGD หรือ 50,000 บาท โดยช่วยทำให้อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนลดลงจากร้อยละ 11.8 จากปี 2560 เป็นร้อยละ 10.1 ในปี 2563

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมี 89 ประเทศ กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งควบคุมตามกฎหมาย เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งควบคุมตามกฎหมาย โดยในอังกฤษ มีการกำหนด ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่กลับพบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้น 3 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี ทำให้ปัจจุบันอังกฤษ กำลังทบทวนมาตรการกฎหมายเพื่อป้องกันเยาวชนและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง ส่วนประเทศไทย กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2557 ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย และผลิต ห้ามครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด รวมถึงห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า และในปี 2567 ได้มีการทบทวนกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มข้นขึ้น เช่น สคบ. ปรับปรุงกฎหมาย โดยออกคำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการที่ 24/2567 เพื่อให้สามารถดำเนินคดีกับผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ชัดเจนขึ้น กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร จัดทำแนวทางการดำเนินคดี และการระงับคดีในชั้นพิธีการศุลกากร เพื่อผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ภายใต้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560

“ส่วนที่ถามว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน อย่างไร ผมขอย้ำว่า สธ. และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ที่มี รมว.สธ. เป็นประธาน และกรมควบคุมโรคเป็นฝ่ายเลขาฯ มีนโยบายเน้นปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า ปกป้อง คุ้มครองกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยออก 5 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย ดังนี้ 1.เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 2.สร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย 3.ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า 4.พัฒนา และจัดการองค์ความรู้ และ 5.สร้างการรับรู้โทษพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน ทั้งนี้ เมื่อผมรับตำแหน่ง รมว.สธ. เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 67 ได้ตั้ง คณะทำงานบูรณาการเพื่อปราบปราบและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 67 ซึ่งลงพื้นที่แล้ว 4 ครั้ง ยึดอุปกรณ์และน้ำยา ได้กว่า 60,000 ชิ้น มูลค่า 18 ล้านบาท” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนให้ความสำคัญกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุขประจำปีงบประมาณ 2568 ที่เน้นปรับปรุงมาตรการให้เอื้อต่อการควบคุมดูแล และส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ โดยกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินงานตาม 5 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย คือ 1.ด้านกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทบทวนกฎหมาย ระเบียบ อย่างต่อเนื่อง 2.ด้านการบำบัด ได้ผลักดันให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ค้นหาผู้เสพติดบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาแบบครบวงจรเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 20,000 คน 3.ด้านการสร้างการรับรู้ และความเข้มแข็งของเครือข่าย เช่น ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สอดแทรกประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าในการเรียนการสอน พัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นต้นแบบสร้างภูมิคุ้มกัน และนักเรียนตัวอย่าง โดยปัจจุบันดำเนินการแล้ว 32 จังหวัด และมีเป้าหมายดำเนินงานให้ครบทุกจังหวัด ภายในปีงบประมาณ 2568 รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนสุขภาพ ทำโครงการร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น รณรงค์สถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และจัดทำโฆษณาสื่อสาร อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าในทุกช่องทางด้วย.