เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประชุมอาเซียนที่ สปป.ลาว ว่า ในวันพรุ่งนี้ นายกรัฐมนตรีจะนำคณะไปร่วมประชุมผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศที่เวียงจันทน์ ตนอยากชี้ให้เห็นว่าในขณะนี้สังคมนานาชาติเขามองประเทศไทยอย่างไร

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ทั้งนี้จากดัชนีอำนาจของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ประจำปี 2567 หรือ Asia Power Index 2024 พบว่า ประเทศไทยติดอยู่ใน 10 อันดับแรกประเทศที่มีอำนาจในสายตาของนานาชาติ 2 เรื่อง เรื่องแรก ไทยติดอยู่ในประเทศ 10 อันดับแรก ที่มีอำนาจด้านวัฒนธรรม ซึ่งวัดจากข้อมูลที่มีและการพบปะของผู้คนนานาประเทศ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีอำนาจหรืออิทธิพลด้านวัฒนธรรมอยู่ในอันดับที่ 6 โดยเราเป็นรองสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ เรื่องที่สอง ไทยติดอยู่ใน 10 ประเทศอันดับแรก เรื่องอำนาจด้านความสัมพันธ์ทางการทูตในเชิงเศรษฐกิจ ความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 7 รองจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย

นายจุลพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนอำนาจหรืออิทธิพลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อำนาจด้านสถานะทางเศรษฐกิจการค้า อำนาจ ด้านการทหารและการรบ อำนาจในทางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ อำนาจในการปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของโลก และอำนาจโดยรวมของอำนาจที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ที่จะเป็นไปในอนาคต ประเทศไทยยังไม่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ดังนั้น ในการประชุมที่เวียงจันทน์ในสัปดาห์นี้ หากมองจากมุมมองนานาชาติจากการวัดดัชนีอำนาจหรืออิทธิพลในเอเชีย ประเทศไทยอาจขาดพลังอำนาจในหลายที่จะดึงดูดความสนใจจากประเทศคู่เจรจานอกอาเซียน อีกทั้งจะมีผู้นำคนใหม่ของประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย ไม่ว่าจะเป็น นายลอ เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์, ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ดังนั้น ความสนใจของประเทศคู่เจรจา เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ และออสเตรเลีย อาจพุ่งไปที่ผู้นำใหม่จากประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และประธานาธิบดีของประเทศฟิลิปปินส์

“ท่านนายกรัฐมนตรีของไทย อาจไม่ได้รับการติดต่อ หรือไม่ถูกแบ่งเวลาจากผู้นำประเทศของประเทศคู่เจรจาในการเจรจาแบบตัวต่อตัว ซึ่งผมขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีและทีมงานอย่าสนใจมาก ที่เราสนใจคือผลลัพธ์ของการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ โดยท่านนายกรัฐมนตรีควรมุ่งไปที่การเจรจาแบบตัวต่อตัวกับผู้นำหรือตัวแทนผู้นำของเมียนมา ลาว และกัมพูชา ในปัญหา 3 เรื่องที่ผมขอเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะ ยกขึ้นเจรจาอย่างเข้มข้นและแสดงจุดยืนของประเทศไทยกับผู้นำ 3 ประเทศนี้ ว่าเราต้องการจะลดหรือกำจัดปัญหานี้อย่างจริงจัง นั่นคือ ปัญหายาเสพติด ปัญหาน้ำท่วมข้ามแดน ที่เกิดจากเส้นทางน้ำธรรมชาติตามพรมแดน และปัญหาคอลเซ็นเตอร์” นายจุลพงศ์ กล่าว

นายจุลพงศ์ กล่าวต่อว่า อย่าเจรจาแสดงความต้องการของเราลอยๆ โดยไม่มีเป้าหมายในผลลัพธ์สักเรื่อง และปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไปกำหนด ผมขอเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีแสดงออกไปเลยอย่างเจาะจง ให้ผู้นำ 3  ประเทศนี้ได้รับทราบถึงเจตจำนงของประเทศไทย เช่น การกำหนดไปเลยว่าประเทศไทยเรามีเจตจำนงที่ให้มีการร่วมมือกันลด หรือกำจัดปัญหาเหล่านี้ภายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น 2-3 ปีนับจากนี้ และอย่ายกเรื่องขึ้นมาเจรจาหลายๆ เรื่อง

“ที่ผมจดไว้เกือบ 10 เรื่อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้แถลงไว้ ผมขอแค่ 3 ปัญหานี้ คือยาเสพติด น้ำท่วมข้ามแดน และคอลเซ็นเตอร์ ขอให้มีการเจรจาให้เกิดมรรคผลและคำมั่นสัญญาในการลงมือทำจากผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ และหากการเจรจาสำเร็จ ผมก็ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีแถลงให้ประชาชนได้รับทราบ หลังจากกลับมาประเทศไทย ผมถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างยิ่ง และแสดงถึงศักยภาพของผู้นำของประเทศ” นายจุลพงศ์ กล่าว

นายจุลพงศ์ กล่าวอีกว่า ถือว่าคุ้มค่าแล้ว ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมอาเซียนครั้งแรก เพราะลำพังการจับมือแนะนำตัว ทักทาย ถ่ายรูปเป็นแค่พิธีกรรมที่ไม่ได้แสดงศักยภาพของไทยของผู้นำและศักยภาพของประเทศ โดยส่วนตัว ตนขอให้กำลังใจท่านนายกรัฐมนตรี ต่อไปการร่วมประชุมระหว่างประเทศอีกสัก 2-3 ครั้ง ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น

เมื่อถามว่ามองดราม่าการอ่านสคริปต์ของนายกรัฐมนตรีที่อิหร่านอย่างไร นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นสาระ เท่ากับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีแถลงออกมา ซึ่งตนยังไม่เห็น.