ต้นอ่อนของพืชผักหลายชนิด“ไมโครกรีน” อุดมไปด้วยสารอาหารและสารพฤกษเคมีสูง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากเป็นทางเลือกให้กับผู้รักสุขภาพ  พืชผักต้นจิ๋ว ประโยชน์แน่น ไมโครกรีนยังเชื่อมโยงถึงการปลูกผัก สร้างแหล่งอาหารคุณภาพได้ที่บ้าน ปลูกด้วยตนเอง ทั้งเป็นคำตอบด้านอาหาร การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ “ภาวะโลกร้อน” ที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก และอาหารในอนาคต

นำเรื่องน่ารู้ไมโครกรีน พาตามรอยวิจัย โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตต้นอ่อนพืชเพื่อยกระดับคุณภาพ และผลผลิตของอาหารเพื่อสุขภาพ ภายใต้วิกฤติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และอาหาร ม.รังสิต โดย ดร.อาทิตย์ พงษ์ทิพย์ อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต และหัวหน้าโครงการฯ ให้ความรู้ว่า การผลิตพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตเชิงปริมาณและคุณภาพ จากสองส่วนนี้คือปัจจัยหลักเป็นโจทย์การวิจัย หรือการมองหาพืชที่มีความเหมาะสม

แต่เดิมการเกษตรเน้นการผลิตเชิงปริมาณ ผลิตให้ได้ผลผลิตมากด้วยที่ยังมีความขาดแคลนอาหาร แต่เมื่อก้าวสู่อีกยุคหนึ่ง ยุคที่เริ่มมีอาหารมากขึ้น ผู้บริโภคหรือผู้ใช้ผลผลิต ไม่ได้มองแค่ปริมาณอาหาร แต่มองเรื่องคุณภาพ และในเรื่องคุณภาพก็ไม่ใช่แค่กินอะไรก็ได้ ให้อิ่ม แต่มองถึง สารอาหาร มองว่ารับประทานแล้ว ได้อะไร ครบ 5 หมู่หรือไม่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ มีมากน้อยอย่างไร

แต่จากนั้นในเรื่องนี้ก็เริ่มอิ่มตัว หันมามองประโยชน์ที่แฝงอยู่ เช่น สุขภาพ โดยที่คุ้นเคยกัน Healthy food, Superfood กินแล้วได้ประโยชน์ที่มาทดแทนอาหารอื่น ๆ ได้มากขึ้น ฯลฯ โดยค้นหาสิ่งเหล่านี้มาทดแทน สำหรับ “ไมโครกรีน” งานวิจัยภายใต้ทุนอุดหนุนการวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต เราทำงานร่วมกับคณาจารย์ในคณะฯ จากโจทย์ climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร ผลิตได้ยากขึ้น ผลิตได้น้อย โดยอาจไม่เพียงพอในอนาคต ฯลฯ งานวิจัยศึกษาถึงการมีส่วนร่วมลดวิกฤติโลกร้อน ตอบสนองการผลิตอาหารให้กับผู้บริโภค นำเรื่องเกษตรในเมืองมาตอบโจทย์ จากนั้นมองถึงการปลูก เพื่อลดการผลิตคาร์บอน ร่วมลดภาวะโลกร้อน และตอบโจทย์ในเรื่องอาหารซึ่งก็คือ “ไมโครกรีน”

“ไมโครกรีนมีลักษณะพิเศษคือ ความเป็นพืชอาหารที่มีอายุสั้น โดยในความอายุสั้น หมายถึงระยะการปลูกเพื่อบริโภค มีระยะเวลาสั้นอยู่ในช่วง 10-14 วัน โดยสามารถเก็บมาบริโภคได้ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ที่กล่าวมาคือ การลดโลกร้อน ตอบโจทย์ความเป็นเกษตรในเมือง และการเป็นอาหาร โดยเมื่อมีการปลูกเร็วเก็บเร็ว ก็สามารถช่วยโลก ทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่าง ๆ ลดการใช้พลังงาน การใช้สารเคมีต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตอบสนองในเรื่องอาหาร เป็นแหล่งอาหารโดยจะมีอาหารเกิดขึ้นทุก 10-14 วัน มีผลผลิตออกมาให้รับประทาน ได้ผักสดใหม่ ได้บริโภคผักที่มีคุณค่าสารอาหารใกล้มือ ทั้งสร้างเสริมรายได้ ฯลฯ โดยส่วนหนึ่งนี้เป็นที่มาถึงการวิจัยไมโครกรีน”

อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร ดร.อาทิตย์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ไมโครกรีนเป็นที่รู้จักกันมานาน งานวิจัยที่เกิดขึ้นเราโฟกัสถึงการจัดการ การสร้างผลผลิตอาหารเพื่อความยั่งยืนในภาวะวิกฤติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

“ไมโครกรีน” เป็นพืชที่เราบริโภคต้นอ่อน ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก สมุนไพร หรือธัญพืช สามารถนำต้นอ่อนมาบริโภคได้ อย่างเช่น กลุ่มพืชผักซึ่งมีความหลากหลายมาก เช่น ต้นอ่อนกะหลํ่าปลี ผักกาด ผักโขม ฟักทอง ฯลฯ พืชสมุนไพร ก็มีไม่น้อย หรือในกลุ่มธัญพืช มี ต้นอ่อนของถั่ว งาต่าง ๆ โดยระยะการเก็บเกี่ยวจากที่กล่าวอยู่ที่ 10-14 วัน ไมโครกรีนมีสารอาหารที่โดดเด่น มีวิตามิน เกลือแร่ และในพืชบางชนิดมีโปรตีน เช่น ถั่ว หรือบางชนิดมีสารอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต เรียกได้ว่าสามารถตอบโจทย์ครบสารอาหารห้าหมู่”

อีกส่วนหนึ่งที่ได้รับความนิยม ไมโครกรีน มีสารพฤกษเคมี ในตัวของเขาเอง เมื่อนำมาบริโภคจึงได้ประโยชน์ในเชิงอื่น ๆ ไม่ใช่แค่เชิงอาหารอย่างเดียว เป็น Functional Foods เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริโภคไมโครกรีนเพิ่มขึ้น ไมโครกรีนมีผู้ศึกษาวิจัยไว้มากในงานวิจัยของเราศึกษา การปลูกลงลึกไปว่าจะปลูกพืชชนิดไหน ศึกษาสารสำคัญ ศึกษาการปลูกในสภาพแวดล้อมลักษณะไหน และสุดท้ายเป็นเรื่องของการจัดการ เป็นงานวิจัยที่ศึกษาครบวงจรจากต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ถึงมือผู้บริโภคและความยั่งยืนในเรื่องของแหล่งอาหาร

“ไมโครกรีน” ปลูกได้นับแต่ผักสมุนไพรและธัญพืช ที่ปลูกกันมากเช่น ถั่วลันเตา ทานตะวัน และข้าวสาลี ซึ่งนิยมปลูกทั่วไป จึงค้นต่อ มองพืช Super food ต่าง ๆ นำมาปลูกเสริมเพิ่มขึ้น รวมถึงในส่วนของผักปลูกผักโขม กะหลํ่าปลี แครอท ฯลฯ ปลูกเพิ่มส่วนนี้เพื่อกระจายให้ครอบคลุม ทั้งความเป็นผักสมุนไพร และธัญพืช โดยศึกษาเปรียบเทียบในเรื่องของสารอาหารในผัก มีอะไรที่โดดเด่นสำคัญ อย่างเช่น โปรตีน จะเจาะลึกลงไปอีก”

ส่วนสภาพแวดล้อม การควบคุมแสง อุณหภูมิ ความชื้น ธาตุอาหาร ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาวิจัย อย่างเรื่อง แสง คุณภาพของแสง ความยาวนานของแสง ฯลฯ เป็นโจทย์ในงานวิจัยทั้งหมด โดยเกี่ยวเนื่องกับผลผลิต ต่อการเติบโตของพืช และในเรื่องการจัดการ ทุกส่วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ผลจากงานวิจัยจะช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจผลิตไมโครกรีนทั้งใน รูปแบบผลิตเพื่อบริโภคเอง หรือจำหน่าย ผลิตได้อย่างมีประสิทธิผล

ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ภาวะโลกร้อน คณะเรามีสาขาธุรกิจเกษตร โดยสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญคือเรื่องต้นทุน งานวิจัยฯ จะลงลึกถึงการเลือกพืช การจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีต้นทุนถูกลงและให้ผลผลิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยฯ ทำให้ได้ เทคโนโลยี องค์ความรู้ เพื่อเป็นคำตอบการผลิตให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไปและสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสแกนชนิดพืช โดยที่คัดเลือกไว้จะมีในกลุ่มพืชเมล็ดใหญ่ และกลุ่มเมล็ดขนาดเล็ก เช่น ทานตะวัน ถั่วลันเตา ฯลฯ โดยสองชนิดนี้ให้ปริมาณสารอาหารที่ดี ขณะที่กลุ่มเมล็ดเล็กยังอยู่ในการทดลองโดยมีหลายชนิดเช่นกัน

ไมโครกรีนที่ผ่านมา ยังคงเป็นที่ต้องการเป็นทางเลือกให้กับคนรักสุขภาพที่ชอบการทานผัก และธัญพืช เป็นกลุ่มเฉพาะ แต่อนาคตมองว่าจะมีกลุ่มที่ต้องการบริโภคไมโครกรีนมากขึ้น มีความสนใจเพิ่มขึ้น ด้วยที่ไมโครกรีนใช้ระยะไม่นานก็ได้ผลผลิต ได้บริโภคผัก หรือถ้าต้องการปลูกผักเอง ปลูกไว้รับประทานเองที่บ้านก็สามารถทำได้ ลงทุนไม่มาก และปลูกได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก

ดร.อาทิตย์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ไมโครกรีนจะเลยจากระยะถั่วงอกไปนิดเดียว วิธีการเพาะต้นอ่อน จะปลูกลงในวัสดุปลูก เช่น ขุยมะพร้าว พีทมอส ฯลฯ จากนั้นนำเมล็ดแช่นํ้าซึ่งแต่ละเมล็ดมีระยะเวลาการแช่นํ้าที่ต่างกัน แต่สำหรับเมล็ดเล็ก ๆ ใช้เวลาไม่นาน จากนั้นนำมาโรยลงบนวัสดุปลูก และพรมนํ้า ตรวจเช็กความชื้น ทั้งนี้การปลูกสาม
วันแรกควรอยู่ในที่มืด จากนั้นนำมาให้โดนแสงที่พอเหมาะและหลังจากใบเลี้ยงคลี่ครบสองใบ อีกไม่เกิน 3-4 วันจะเก็บเกี่ยวนำมารับประทานได้

สำหรับวัสดุปลูกสามารถนำกลับมาใช้ซํ้า นำไปล้างทำความสะอาด นำรากไม้ออก ตากให้แห้งแล้วนำกลับมาปลูกได้อีกครั้ง อีกทั้งถ้ามีพื้นที่จำกัด การปลูกไมโครกรีนก็เป็นอีกหนึ่งพืชที่ตอบโจทย์ นอกจากความโดดเด่นด้านอาหาร สุขภาพ ดร.อาทิตย์ อธิบายอีกว่า ยังนำมาสร้างสรรค์เป็น ชุดการเรียนรู้ “ชุดปลูกขนาดเล็ก” หรือนำไปเป็นของฝากให้กับผู้ที่รักสุขภาพจะปลูกไปให้ หรือนำไปให้ปลูกก็ได้ทั้งหมด และจากโครงการวิจัยฯ ยังศึกษาต่อเนื่องต่อไปในด้านโภชนาการ ทั้งนี้ในต่างประเทศยังศึกษาถึงช่วงเวลาที่สั้นลง ศึกษาช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุดและยังศึกษาการจัดการ การเก็บพืชให้คงสารสำคัญไว้ได้นานที่สุด รวมถึงนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งบอกเล่าเรื่องราว พืชผักจิ๋วแต่แจ๋ว

“ไมโครกรีน” ที่อุดมไปด้วยสารอาหารและพฤกษเคมี เพิ่มทางเลือกให้กับผู้รักสุขภาพ และช่วยให้การเกษตรอยู่ร่วมกับเมือง รวมถึงอาหารในอนาคต.

                                                                                                            พงษ์พรรณ บุญเลิศ