สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ว่า นโยบายลดคาร์บอนของกัมพูชานั้น สอดคล้องกับนโยบายเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593

นายแก้ว รัตนะ รมว.เหมืองแร่และพลังงาน กล่าวระหว่างการบรรยายเรื่อง “นโยบายพลังงานของกัมพูชา” ที่มหาวิทยาลัยหลวงแห่งกรุงพนมเปญ ว่า พลังงานแสงอาทิตย์และลม จะช่วยเสริมการกระจายสัดส่วนพลังงาน และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

ตามข้อมูลของการไฟฟ้ากัมพูชา พลังงานน้ำ, แสงอาทิตย์ และชีวมวล คิดเป็นร้อยละ 48.48 ของพลังงานรวมทั้งหมด และเชื่อมต่อโดยตรงกับเครือข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ ขณะที่พลังงานไม่หมุนเวียน อาทิ ถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 51.52

“เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดแคลนแหล่งพลังงาน และเพื่อให้แน่ใจว่าพลังงานสะอาดจะขยายตัว เรามีแผนที่จะบูรณาการพลังงานลมเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติภายในปี 2569 ด้วยอุปทานที่ราคาไม่แพง, มีเสถียรภาพ และเท่าเทียมกัน” นายแก้ว กล่าว

แม้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ผู้กำหนดนโยบายของกัมพูชาใช้แนวทางที่เป็นรูปธรรม ในการไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และด้วยสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ จึงมีความเสี่ยงจากระดับน้ำที่ลดลงสูงสุดในช่วงฤดูร้อน

ทั้งนี้ กัมพูชามีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 แห่งในประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ได้ประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 700 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 50,190 ล้านบาท) ในจังหวัดเกาะกง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ แล้ว.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES