ประเด็นที่เกิดขึ้น…ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหลายด้านโดยเฉพาะในแง่ของสังคม เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ทั้งของคนและของสัตว์ โดยเฉพาะ “ช้าง”

เรื่องราว ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกด้านต้องนำมาเป็น “บทเรียน” เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก แม้ที่ผ่านมาได้ “ถอดบทเรียน” กันหลายครั้งหลายคราว

แต่สุดท้าย!! ก็ยังกลายเป็นเรื่อง กลายเป็นประเด็นที่ต้อง “ท้าทาย” ความสามารถในการบริหารจัดการของคนที่เกี่ยวข้องกันต่อไปเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้

เพราะ…อย่าลืมว่า ปัจจัย “ท้าทาย” ความสามารถไม่ได้มีเพียงเหตุการณ์ในประเทศที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้เท่านั้น แต่ยังมีมรสุมจากต่างประเทศที่ไม่สามารถควบคุมหรือคาดเดาได้ กำลังรออยู่!!

ทั้งหลายทั้งปวง!! ก็คงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของผู้บริหารประเทศ ที่ต้องเร่ง “จัดการ” เพื่อก้าวข้ามปัญหาที่เกิดและกำลังจะเกิดในอนาคตต่อไปให้ได้

หรือแม้แต่ในเรื่องของการฟื้นกำลังซื้อ ฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อให้มีกำลังที่จะทัดทานอีกหลายปัจจัยที่กำลังจะก้าวเข้ามาในอีกไม่ช้า ต่อให้รัฐบาลได้แก้ปัญหาเปราะแรกด้วยการแจกเงินสดให้กับกลุ่มผู้เปราะบางและผู้พิการไปแล้ว 14.5 ล้านคน

โดยคาดหวังว่าเงินที่ใส่เข้าไปในระบบเวลานี้กว่า 1.4 แสนล้านบาท จะเข้าไปเป็นพายุเล็ก ๆ ในการหมุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้เติบโตให้ได้อย่างน้อย 3% ก็ตาม

ต้องยอมรับว่าพายุเล็ก ๆ ที่เข้าไปหมุนเศรษฐกิจในเวลานี้อาจทำได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่รัฐบาลยังต้องมีมาตรการเข้าไปเติมเชื้อให้กลายเป็นพายุใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินเครื่องได้อย่างต่อเนื่องอีก

หลาย ๆ มาตรการที่เตรียมเอาไว้นั้น เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลได้ “ปิดตาย” โครงการคนละครึ่ง ในปี 67 นี้แน่นอน โดย “เผ่าภูมิ โรจนสกุล “ รมช.คลัง ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่าในปีนี้แม้ รัฐบาล “แพทองธาร” ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เอาไว้รองรับอีกหลายมาตรการก็ตาม

แต่!!รัฐบาลจะไม่เลือกใช้นโยบายโครงการคนละครึ่งแน่ ๆ แต่อาจออกมาในรูปแบบมาตรการทางภาษี และกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น การซื้อของและให้ลดหย่อนภาษี เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น…ก็เชื่อได้ว่า มาตรการชุดใหม่ที่กำลังจะออกมาคงหนีไม่พ้นมาตรการที่คล้ายกับ “ชอปดีมีคืน” หรือโครงการ ” Easy E-Receipt” ที่รัฐบาลเค้าเอาออกมาใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

โดยนักชอปปิงสามารถนำค่าสินค้าและบริการที่ซื้อในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 67 ที่ผ่านมา มาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท และต้องเป็นสินค้าและบริการ จากร้านที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้เท่านั้น บรรดาร้านค้าที่ไม่มีระบบ e-Tax ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ที่ผ่านมาโครงการ ช้อปดีมีคืน ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563  และมีอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาล ต้องการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ

ผลลัพธ์ของโครงการ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะทำให้เกิดการจัดจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ทำให้บรรยากาศการซื้อการขายสินค้านั้นคึกคักเพิ่มมากขึ้น

แม้เป็นเพียงประโยชน์สำหรับเฉพาะ “คนที่มีกำลังซื้อ” ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่รัฐบาลคาดหมายว่าจะดึงกำลังซื้อออกมาในระบบเพื่อช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจ

ส่วนรูปแบบจะออกมาอย่างไร? แบบไหน? คงต้องรอให้รัฐบาลสะเด็ดน้ำให้ชัดเจนก่อน อย่างที่รู้กันนั่นแหล่ะ… หากประกาศออกมาก่อนที่จะถึงเวลา อาจทำให้การจับจ่ายใช้เกิด “สะดุด” จนทำร้ายเศรษฐกิจก็เป็นไปได้

เอาเป็นว่า… มีแน่มาตรการสำหรับการ “ชอปปิง” แต่คงต้องอดใจรอกันอีกหน่อย!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่