วันนี้ (6 ต.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วานนี้ (5 ต.ค. 67) ตนในฐานะผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี ได้เดินทางไปเยี่ยมชมความสำเร็จและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนโครงการโคก หนอง นา อารยเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แปลงนายบุญธรรม จันทะนะ เลขที่ 36 หมู่ที่ 5 บ้านหนองหอยทุ่ง ต.ธาตุพนมเหนือ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม โดยมี นางสาวพันสี คุณธรรม รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดนครพนม นายศิริชัย ธนะอุตร พัฒนาการอำเภอธาตุพนม นายบุญธรรม จันทะนะ เจ้าของแปลง และภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา จ.นครพนม ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการโคก หนอง นา อารยเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นตัวอย่างของการเสริมสร้างสิ่งที่ดีในชีวิตพี่น้องประชาชน เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า “ความยั่งยืน” อันเกิดจากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ที่มีมากกว่า 40 ทฤษฎี และโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีกว่า 4,741 โครงการมาปฏิบัติ อันเป็นการสนองพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงถือเป็นการปฏิบัติบูชาที่เป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดผลต่อไปอย่างยั่งยืน อาทิ การสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สอดแทรกอยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา อารยเกษตร ซึ่งพี่บุญธรรม เจ้าของแปลงได้เล่าให้พวกเราฟังว่า ทำให้มีรายได้ 300-500 บาทต่อวัน และสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารวันละ 300-400 บาท มีกินมีใช้ในพื้นที่ของตนเอง

นอกจากนี้ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่อารยเกษตร หรือที่เราเรียกชื่อเล่นแต่เดิมว่าโคก หนอง นา ที่เป็นการเรียกตามการปรับปรุงพื้นที่ให้มีหนอง ขุดสระ ขุดหนอง ขุดคลองไส้ไก่ นำดินมาทำเป็นโคก เป็นที่ดอน เป็นที่ลุ่มสำหรับปลูกพืช 5 ระดับ สูง กลาง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ป่า 3 อย่าง ประกอบด้วย 1 ไม้กินได้ 2 ไม้ทำที่อยู่อาศัย 3 ไม้ใช้สอย เกิดประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ทำให้ร่มเย็น เป็นสุข รวมทั้งปฏิบัติตามทฤษฎีบันได 9 ขั้น คือ ขั้นที่ 1-4 พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น ขั้นที่ 5 คือทำบุญ ขั้นที่ 6 คือทำทาน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ รวมถึงการทำทานด้วยกล้าไม้ ขั้นที่ 7-9 การรู้จักเก็บรักษา และการรวมกลุ่มเครือข่ายเพื่อค้าขายผลผลิต

“อารยะเกษตร” ซึ่งมีความหมายว่า “อารยะ” แปลว่า สวยงาม “เกษตร” แปลว่า แผ่นดิน “อารยเกษตร” จึงหมายความรวมว่า แผ่นดินที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ โดยการที่เราจะทำให้แผ่นดิน และพื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ได้ เราต้องน้อมนำสิ่งที่พระองค์ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ด้วยการนำมาทำให้ดีกว่าเก่าโดยไม่ทิ้งรากฐานหรือทฤษฎีที่เป็นฐานโคก หนอง นา บวกกับวัฒนธรรม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ความเป็นศรีสะเกษที่เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม ดังพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ความตอนหนึ่งว่า “…โคก หนอง นา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา อันนี้ก็เป็นการรวม หรือแสดงตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างที่ใช้งานได้จริง ๆ นำไปใช้ได้ ไม่ใช่เป็นโมเดลที่แสดงไว้ในตู้ อยู่คงที่ แต่เป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริง ๆ นำไปใช้ได้อย่างอ่อนตัว อย่างใช้งานได้จริง ๆ แล้วก็หลากหลายได้…” และที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พวกเราคนไทยไปยิ่งกว่านั้น คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้แค่ทรงแนะนำด้วยการพระราชทานพระราชดำรัสเท่านั้น แต่พระองค์ยังพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของคนในชาติ และทรงลงมือทำด้วยพระองค์เองในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทั้งโคก หนอง นา อารยเกษตร รวมถึงทรงปลูกผัก ปลูกกล้วย และทรงนำผลผลิตพระราชทานแจกจ่ายให้ข้าราชบริพาร

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนโครงการโคก หนอง นา อารยเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แปลงนายบุญธรรม จันทะนะ เป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์ให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยน้อมนำหลักการทรงงานตามศาสตร์พระราชา คือ ภาคีเครือข่าย หรือ “บวร” ได้แก่ บ้าน วัด ราชการ รวมไปถึงหลัก 4 ร. คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ จึงขอฝากชาวโคก หนอง นา มุ่งมั่นขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อเป็นแบบอย่างในการขยายเครือข่ายและมีความเป็น “จิตอาสา” ขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนสังคมให้กว้างขวางออกไป เพื่อทำให้ผืนแผ่นดินไทยเป็นสุวรรณภูมิอู่ข้าว อู่น้ำ ที่เลี้ยงดูผู้คน และทำให้คนไทย ทำให้ประเทศไทย และโลกใบเดียวนี้ มีกิน มีใช้ มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขตลอดไปอย่างยั่งยืน

“วันนี้ ตน และ ดร.วันดี มีความมุ่งมั่นตั้งใจไปเยี่ยมแปลงของพี่บุญธรรม ในฐานะจิตอาสาภาคประชาชน และไปให้กำลังใจครอบครัวพี่บุญธรรมซึ่งเป็นครัวเรือนต้นแบบของนครพนมได้มีกำลังใจในการทำอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการขยายผลให้เพื่อนบ้านและผู้สนใจ เพื่อจะได้มีสิ่งที่ดีในชีวิต นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนเฉกเช่นพี่บุญธรรม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้าย

ด้านนายบุญธรรม จันทะนะ เปิดเผยถึงการเป็นสมาชิกเครือข่ายโคก หนอง นา อารยเกษตร ซึ่งตนได้สมัครเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยได้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 5 วัน และร่วมออกแบบพื้นที่ จำนวน 3 ไร่ ขุดปรับพื้นที่ตามแบบมาตรฐานกรมการพัฒนาชุมชน โดยใช้แบบมาตรฐาน สัดส่วน 1:3 ดินเหนียว ปริมาตรดินขุด 4,000 ลูกบาศก์เมตร บ่อน้ำ 2 บ่อ ขนาด 1,200 ลูกบาศก์เมตร ความลึก 8 เมตร ทำให้เก็บกักน้ำได้ตลอดทั้งปี และมีคลองไส้ไก่ สำหรับกระจายความชุ่มชื้นขึ้นเชื่อมทั้ง 2 บ่อ

“จุดมุ่งหมายที่ตนนำพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำเพื่อใช้ใช้ในการทำการเกษตร และเป็นแหล่งทำมาหากิน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และที่สำคัญ สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ให้ผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม และพี่น้องประชาชน สามารถเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ได้ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์เรียนรู้ เช่น ฐานเรียนรู้คันนาทองทำ ฐานคนรักษ์ป่า การทำปุ๋ยหมักแห้งชาม น้ำชาม การทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง การทำแชนวิชปลา การห่มดิน การตอนกิ่งพันธุ์ฝรั่ง การเพาะพันธุ์ผักสวนครัวเพื่อแจกจ่าย เป็นต้น”

นายบุญธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อตนได้ขุดปรับแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ได้ทำการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อปลูกพืชผัก เช่น ผักสวนครัว มะพร้าว กล้วย ฝรั่ง แค น้อยหน่า เป็นต้น ส่วนในบ่อได้เลี้ยงปลากลด ปลาเผาะ ทั้ง 2 บ่อ และปรับพื้นที่ในการทำนา ปลูกข้าว ควบคู่กับคันนาทองคำ ส่งผลให้ปัจจุบันตนมีรายได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 200-300 บาท ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 มีคณะศึกษาษาดูงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนใจเข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 7 คณะ ๆ ละ 40 – 90 คน รวมประมาณ 700 คน