“สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์”  ถือเป็น “กรรมการ กสทช.” คนที่ 7  ที่ฝ่าด่านการสรรหาเของสมาชิกวุฒิสภาข้ามานั่งในตำแหน่ง เพื่อทำงานกำกับดูแลงาน ด้านกิจการโทรคมนาคม  หลังจากที่กรรมการ กสทช.อีก 6 ท่าน ได้รับการสรรหาเข้ามาทำหน้าที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

เรียกว่าเป็น “งานหิน”  ที่ต้องเข้ามากำกับดูแลหลังมีการควบรวมกิจการของ สองผู้ให้บริการมือถือ ที่เป็นเรื่องร้อนๆไปก่อนหน้า ที่ กรรมการ กสทช. หรือ บอร์ดทั้ง 6  คน ได้มีมติไปก่อนหน้า

รวมถือเรื่อง “ดาวเทียม” ที่ต้องเร่งรักษาสิทธิ การเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ตำแหน่ง 50.5 51 และ 142 องศาตะวันออก ที่ยังไม่สามารถประมูลออก เพราะไม่มีเอกชนสนใจ  และการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม  ที่เป็นงานร้อน รอให้สะสาง เป็นต้น

 วันนี้ “เดลินิวส์” มีโอกาสได้พูดคุย กับ   “สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์”  กรรมการ กสทช . ด้านกิจการโทรคมนาคม  หลังเข้ามารับตำแหน่งได้ปีกว่าๆ เปลี่ยนจากเป็นอาจาร์ยสอนหนังสือใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มานั่งกำกับดูแลองค์กรสำคัญอย่าง สำนักงาน กสทช.  

“สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์”  บอกว่า  หลังเข้ามารับตำแหน่ง ได้พยายามขับเคลื่อนงาน ด้านกิจการโทรคมนาคม ของสำนักงาน กสทช. อย่างเต็มที่ แต่ก็ยอมรับว่า เมื่อเข้ามาทำงานแล้ว งานบางเรื่อง ก็เป็นงานยาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และ เป็นปัญหาที่สะสมมานาน  และบอร์ด กสทช.ทำงานแบบคณะ ที่ต้องมีการลงมติตัดสินของบอร์ด   ซึ่งบางเรื่อง บอร์ด กสทช .ก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่บอร์ด กสทช.ทุกคน ก็พยายามขับเคลื่อนงานของตนเองให้เดินหน้าไปให้ได้

สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์”

สำหรับการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญ ด้านกิจการโทรคมนาคม นั้นในเรื่อง  “ดาวเทียม” ที่ยังเหลือ 2 วงโคจรที่ประมูลไม่ออก และเสี่ยงที่จะถูก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) ยึดสิทธิวงโคจรคืนใน เดือน พ.ย ที่จะถึงนี้นั้น  ทางบอร์ด กสทช . ก็ได้มีมติเห็นสอบ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิ และได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา แล้ว โดยจะมีการเปิดยื่นคำขอรับอนุญาต ในวันที่ 7 ต.ค.นี้

โดยเป็นการจัดสรรสิทธิฯ ในลักษณะ “โดยตรงแบบเปิดกว้าง” หรือ โอเพ่น ไดเร็ก อวอร์ด ที่เป็นการผสมผสานระหว่างแนวทางการจัดสรรโดยตรง (ไดเร็ก อวอร์ด) และการจัดสรรแบบเปรียบเทียบคุณสมบัติและข้อเสนอ (บิวตี้ คอนเทสต์) แทนการ “ประมูลแบบเคาะราคา” ซึ่งก็คาดว่าจะมีเอกชนสนใจเข้ามายื่นขออนุญาต และคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตได้  17 ต.ค. นี้

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 3  (พ.ศ. 2567 – 2571) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 3 ก.ค.67 โดยมุ่งเน้นการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศโดยมีจุดประสงค์หลักในการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม โดยมุ่งเน้นการให้บริการที่มีคุณภาพสูง และราคาเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจในยุคดิจิทัล

กรรมการ กสทช. ด้านโทรคมนาคม ยังบอกถึงเรื่อง การตัดสรรคลื่นความถี่ว่า  ก็ได้ดำเนินการจัดทำโรดแมพเสร็จเรียบร้อย  เพื่อให้เอกชนได้เตรียมตัว และรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการนำคลื่นความถี่ต่างๆ มาประมูลช่วงใด

โดย การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 850  , 1500 ,1800 ,2100 และ 2300   MHz อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดการประมูล ให้เป็นไปตามแผนแม่บทฯ และสอดคล้องกับความต้องการใช้งานในระยะเวลา 5  ปี จากนี้ โดยตั้งเป้าหมายจะนำมาประมูลในช่วงไตรมาสแรก ของปี 68

 ส่วนการประมูลและจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน  3500  MHz นั้น ที่ทางทีวีดิจิทัล ค้านไม่เห็นด้วย เพราะมีผลกระทบต่อธุรกิจ เพราะปัจจุบันมีฐานคนดูทีวีดิจิทัลผ่านดาวเทียมด้วยจานดำกว่า 60% ซึ่งจะทำให้ฐานคนดูลดลงกระทบต่อเรทติ้งและการประกอบธุรกิจ

เรื่องนี้ โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะนำมาประมูลในปี 70  และให้มีการเริ่มใช้งานในปี 72 หลังใบอนุญาตของทีวีดิจิทัลหมดลง เพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้เตรียมตัวและมีเวลาในการเคลียร์คลื่นความถี่  แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของบอร์ด กสทช.ทั้งหมดด้วย

 ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการประมูลและจัดสรรคลื่นย่าน 3500  MHz (3300- 4200 MHz) โดยคำนึงถึงแผนการย้ายการใช้งานทีวีจานดำ (TVRO) และการใช้งานสำหรับ 5G Private Network ในภาคอุตสาหกรรม

โดยแผนการประมูลและจัดสรรคลื่นความถี่ช่วงแรก 3300 – 3700  MHz เน้นสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ในช่วงปี 70  และความถี่ช่วงที่สอง  3700 – 4200  MHz ในช่วงปี 72

นอกจากนี้จะผลักดันใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ย่าน 3500  MHz สำหรับการใช้งานกับ 5G Private Network ในภาคอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการใช้งานเพิ่มเติม

และทาง กสทช. ได้กำหนดคลื่นความถี่ย่าน 4800 – 4900  MHz สำหรับใช้งานสำหรับกิจการ Private Network ไว้ก่อนหน้า แม้ปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับความถี่ย่านนี้แพร่หลายในท้องตลาด แต่ก็มีแผนจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์การใช้งานความถี่ย่านนี้ให้แล้วเสร็จภายในปี  68

ขณะที่เรื่องเร่งด่วนและเป็นประเด็นที่พูดถึงหลังจากเกิดน้ำท่วม คือ  การแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ก็ได้อนุมัติกรอบวเงินสนับสนุนจาก กองทุน  USO โดยให้เอกชน คือ เอไอเอ และทรู หักลดหย่อนรายได้นำส่งค่า USO จากการจัดทำระบบ และค่าบำรุงรักษาระบบจำนวน 3 ปี วงเงินประมาณ 752 ล้านบาท

ถือเป็นงานหลักที่ได้ดำเนินการมาตลอดช่วง 1 ปีกว่าๆ หลังรับตำแหน่ง รวมถึงแผนงานที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเพื่อกำกับดูแลกิจการด้านโทรคมนาคมของไทย!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์