รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น เริ่มให้บริการระหว่างกรุงโตเกียว กับเมืองโอซากา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2507 ซึ่งถือเป็นการประกาศยุคใหม่ของการเดินทางด้วยรถไฟ ในขณะที่ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ หลังประสบกับความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง

เนื่องจากบริการรถไฟชินคันเซ็น ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประเทศ ดังนั้น การรักษาความสะอาด การตรงต่อเวลา และการปลอดอุบัติเหตุ จึงเป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ศูนย์ฝึกอบรมพนักงานประจำที่ทันสมัย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว มอบสิ่งที่บริษัท เซ็นทรัล เจแปน เรลเวย์ ผู้ให้บริการรถไฟของญี่ปุ่น อธิบายว่าเป็น “การศึกษาที่เข้มข้น” ให้กับเจ้าหน้าที่บนรถไฟ, คนขับรถไฟ และสมาชิกทีมคนอื่น ๆ ในอนาคต

เส้นทางรถไฟชินคันเซ็นสายโทไกโด ซึ่งทอดยาวจากกรุงโตเกียว ผ่านภูเขาไฟฟูจิ ไปจนถึงย่านฮากาตะ ในเมืองฟุกุโอกะ มีผู้โดยสารใช้บริการเกือบ 250,000 คนในแต่ละวัน โดยขบวนรถไฟประจำเส้นทางที่มีชื่อว่า “โนโซมิ” จะมาถึงสถานีในทุก 5 นาที

เซ็นทรัล เจแปน เรลเวย์ ระบุว่า บริษัทไม่เคยมีอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต เกิดขึ้นบนรถไฟหัวกระสุนเลย ทั้งที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญกับแผ่นดินไหว, ไต้ฝุ่น และหิมะตกหนักเป็นประจำก็ตาม

แม้ในปัจจุบัน รถไฟชินคันเซ็นที่มีความเร็วสูงสุด 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ได้เป็นรถไฟที่เร็วที่สุดในโลกอีกต่อไป แต่รถไฟหัวกระสุนแบบดั้งเดิม ซึ่งมีพื้นที่ภายในขบวนกว้างขวาง ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถทางวิศวกรรม และความใส่ใจในรายละเอียดของญี่ปุ่น

ด้านนายคริสโตเฟอร์ ฮู้ด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ความล่าช้าของรถไฟในบางประเทศ ทำให้ไม่มีเวลาในการทำความสะอาดอย่างพิถีพิถัน แต่ในกรณีของเครือข่ายรถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่น ความล่าช้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ “ไม่ถึง 1 นาที” ส่งผลให้พนักงานสามารถทำความสะอาดรถไฟได้อย่างหมดจด ทั้งภายนอกและภายใน

อนึ่ง เซ็นทรัล เจแปน เรลเวย์ อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัยระบบตรวจสอบดิจิทัลแบบใหม่ ที่สามารถวิเคราะห์ภาพของรถไฟ เพื่อค้นหาจุดที่เป็นอันตรายได้ เนื่องจากญี่ปุ่น เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกัน บริษัท อีสต์ เจแปน เรลเวย์ ระบุว่า รถไฟหัวกระสุนไร้คนขับ อาจเปิดตัวในช่วงกลางทศวรรษที่ 2030

AFP

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีโครงการขนาดใหญ่ ในการสร้างเส้นทางรถไฟระบบพื้นผิวแม่เหล็ก หรือ “แม็กเลฟ” ซึ่งสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีกำหนดเริ่มให้บริการระหว่างกรุงโตเกียว กับเมืองนาโกยา ในปี 2570

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวประสบกับความล่าช้ามาเป็นเวลานาน เนื่องจากการต่อต้านด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเซ็นทรัล เจแปน เรลเวย์ ก็ตัดสินใจเลื่อนกำหนดเปิดบริการออกไปเป็นปี 2577 หรือหลังจากนั้น

นายไดสุเกะ คุมาจิมะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเซ็นทรัล เจแปน เรลเวย์ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการข้างต้น คือ การสร้าง “ระบบคู่” กับรถไฟชินคันเซ็น เพื่อตอบสนองความต้องการและรักษาเสถียรภาพของการดำเนินงาน ในกรณีที่มีการบำรุงรักษา หรือเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP