เวียนกลับมาอีกครั้งสำหรับประเพณีออกพรรษาของชาวไทใหญ่ที่สืบทอดมากว่า 600 ปี ประเพณีออกหว่า ที่จัดขึ้นในวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับโลกมนุษย์หลังจากเสด็จโปรดพระมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 11

คำว่า “ออกหว่า” หมายถึง การออกจากฤดูฝน ในวันนั้นแต่ละบ้านจะจัดทำ “ซุ้มราชวัตร” หรือ “ปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า” ชาวไทใหญ่เรียกว่า “กยองเข่งปุด” โดยจะทำซุ้มประตูบ้านให้เป็นรูปปราสาท ประดับประดาด้วยโคมไฟหูกระต่าย ตกแต่งด้วยดอกไม้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย ช่อตุง ประทีปโคมไฟ เปรียบเหมือนการต้อนรับพระพุทธเจ้าที่พระองค์เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยแต่ละบ้านจะจัดทำซุ้มราชวัตรขนาดพอเหมาะหน้าบ้านก่อนงานออกหว่าอย่างน้อย 3-5 วัน และจะมีซุ้มราชวัตรศูนย์กลางที่ชุมชนร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่งจะจัดล่วงหน้าอย่างน้อยสองวัน คือก่อนวันขึ้น 14 คํ่า เดือน 11 ของทุกปี

ตลอด 3 วัน จะมีการตักบาตรพระสงฆ์ที่หน้าบ้านของแต่ละคน ซึ่งถือเป็นการตักบาตรที่เช้าที่สุดในประเทศไทย โดยในวันแรกซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม 2567 จะเป็นการตักบาตรอาหารสด การตักบาตรจะเริ่มตอนประมาณ 04.00 น. ซึ่งไม่เหมือนกับตักบาตรเทโวทั่วไป ส่วนอีกสองวันที่เหลือคือวันที่ 17-18 ตุลาคม 2567 จะเป็นการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง

ชาวอำเภอแม่สะเรียงมีความเชื่อว่า การตักบาตรที่หน้เาบ้านของตนเอง จะเป็นสิริมงคลต่อบ้านและคนในครอบครัว พระภิกษุและสามเณรกว่า 200 รูป จะเดินบิณฑบาตไปตามถนนสายต่าง ๆ

ในวันแรม 1-14 คํ่า เดือน 11 จะมีกิจกรรมแห่ “เทียนเหง” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาเป็นประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาจากไทใหญ่ คำว่าเทียนเหง เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า เทียนพันเล่ม และเรียกประเพณีนี้ว่า “หลู่เตนเหง” คำว่า “หลู่” แปลว่า ถวาย หรือ ทาน คำว่า “เตน” แปลว่า เทียน และคำว่า “เหง” แปลว่า หนึ่งพัน

ภายในขบวนมีการจัดสิ่งของเครื่องไทยธรรม เทียน 1 พันเล่ม โคมหูกระต่าย โคมกระบอก ตุงและตุงจ่องกรวยดอกไม้อย่างละ 1 พัน ในคืนวันแห่จะมีขบวนสตรีที่แต่งกายแบบหญิงไทใหญ่นำเครื่องไทยธรรมร่วมขบวน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้นโคมหูกระต่ายที่ทำเป็นชั้น ๆ เหมือนฉัตร หรือรูปพีระมิด 1 ต้น และต้นเกี๊ยะ ซึ่งมาจากการนำไม้สนสามใบมาจักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 2.5 เมตร แล้วนำมามัดรวมกันเป็นต้นเกี๊ยะเพื่อจุดบูชาพระพุทธเจ้า

ขบวนแห่เทียนเหงจะแห่จากที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียงไปตามวัดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลแม่สะเรียง พร้อมกับมีการละเล่นที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชน มีการแต่งตัวเป็นเทพบุตร เทพธิดา และสัตว์ป่าหิมพานต์ การฟ้อนโต การฟ้อนกิ่งกะหล่า การฟ้อนกํ๋าเบ้อคง การฟ้อนเขียดแลว การฟ้อนผีโขน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการกลับจากสวรรค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการประเพณีออกหว่า ณ ลานวัฒนธรรม วัดอุทธยารมณ์ (วัดจองสูง) ถนนคนเดิน และนิทรรศการหน่วยงานต่าง ๆ ณ บริเวณรอบเทศบาลตำบลแม่สะเรียง กิจกรรม ณ ลานวัฒนธรรม วัดอุทธยารมณ์ วัดศรีบุญเรือง โดยมีกิจกรรมสำคัญวันที่ 16 ตุลาคม 2567 เวลา 18.00 น. พิธีเปิดงานประเพณีสืบฮีต สานฮอย ย้อนรอยออกหว่าและวิถีชนเผ่า วันที่ 17 ตุลาคม 2567 เวลา 18.00 น. มีกิจกรรมกาดหมั้ว ครัวฮอม

สำหรับกิจกรรมงานรื่นเริง ณ เวทีกลาง หน้าสถานีตำรวจภูธรแม่สะเรียง มีการแสดงรื่นเริง ตลอด 3 คืน ในวันที่ 16-18 ตุลาคม 2567 ได้แก่ การแสดงจากโรงเรียนต่าง ๆ และการประกวดรำนก รำโต พิธีเปิดงานประเพณีออกหว่า เทศกาลออกพรรษาอำเภอแม่สะเรียง โดย อ.อัครัช สิปปนันท์ และพบกับ “ครูเต้ย” ศิลปินที่มีชื่อเสียง

ขบวนแห่เทียนเหง ในค่ำคืนวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. สัมผัสขบวนแห่เทียนเหง (เทียนพันเล่ม) กว่า 20 ขบวน มีการสอดแทรกเรื่องราวของงานประเพณีออกหว่า เทศกาลออกพรรษา ให้สามารถสัมผัสได้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ได้จัดให้มีงานวิ่ง “กว่า แหล่ โกม ครั้งที่ 3” ณ ลานหน้าที่ว่าทำการอำเภอแม่สะเรียง โดยกิจกรรมเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป มีระยะทาง  5 กิโลเมตร และระยะทาง 10 กิโลเมตร ตามลำดับ

ช่องทางสอบถามรายละเอียดประเพณีออกหว่า เพิ่มเติมโทร. 0-5368-1231 ต่อ 19 มือถือ : 08-1287-6938 (กองการศึกษา) Facebook : เทศบาลตำบลแม่สะเรียง เทศบาลตำบลแม่สะเรียง.