สวัสดีจ้า Campus Life” สัปดาห์นี้ มีไอเดียเจ๋งๆ จากการนำฝาขวดน้ำพลาสติกเหลือทิ้ง มาสร้างสรรค์ผลงานสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ของทีม Greenpeace นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มานำเสนอกันจ้า

โดยนักศึกษาทีม Greenpeace ประกอบด้วย “จิราภา พิศลยบุตร”, “น้ำทิพย์ แก้วแสงทอง”, “ศุภากร ชีพนุรัตน์”, “ฐิติญาณ์ นุชรักษา”, “กัญญณัช ต้นประยูร” สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน  “พัทธ์ธีรา เธียรธีรา”, “นิติยา ศรวิชัย” สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ และ “ภัสช์ธิราณ์ พันธ์นิล”, “พัชรินทร์ กลั่นฟัก” สาขาวิชาการเงิน โดยมี ผศ.ดร.วรัญญา แก้วเชือกหนัง สาขาวิชาการจัดการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

“จิราภา พิศลยบุตร” หัวหน้าทีมนักศึกษากลุ่ม Greenpeace เล่าวว่า ทางทีมได้รับโจทย์ให้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ในการนำฝาขวดน้ำพลาสติกมารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง ทั้งนี้จากเดิมที่กลุ่มวิสาหกิจได้นำฝาขวดน้ำมารีไซเคิลเป็นกระถางต้นไม้รูปแบบต่างๆ ดังนั้นจึงได้ทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ในหลากหลายมิติ พบว่าความต้องการของชุมชนมีข้อจำกัด โดยต้องการให้กลุ่มนักศึกษาพัฒนาใน 6 ด้าน คือ 1.ความต้องการด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ 2.ความต้องการพัฒนาด้านสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ 3.ความต้องการบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก 3.ความต้องการเครือข่ายบูรณาการการเรียนรู้และจับคู่ธุรกิจที่เป็นประโยชน์สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ 5.ความต้องการวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ (Carbon Footprint) และ 6.การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบรายการสินค้าที่ขายและคงเหลือ ดังนั้นเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ขีดความสามารถศักยภาพในการผลิตเดิมที่มีอยู่ให้มีมาตรฐาน  และส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย จึงได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สวยงามแปลกใหม่ไม่จำแจ และราคาจับต้องได้ ได้แก่ เครื่องประดับสายมู (มูเตลู) สร้อยคอ สร้อยข้อมือ จี้ ทั้งยังนำเข้าพิธีบูชาภายในวัดที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ อาทิ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) วัดระฆังโฆสิตาราม นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก เก้าอี้ โต๊ะ แผ่นปูนปูพื้นรักษ์โลก อย่างไรก็ตามหลังจากรีไซเคิลฝาขวดแล้ว ทางทีมได้นำโจทย์มาคิดต่อว่า จะนำขวดน้ำที่เหลือมาทำอะไร จึงมาตอบโจทย์ที่สามารถนำมาทำเป็นเส้นพิมพ์ 3 มิติ สำหรับใช้ในเครื่องพิมพ์ 3D Printing  ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง หากสำเร็จก็จะสอนให้กับชุมชนต่อไป

ด้าน “น้ำทิพย์ แก้วแสงทอง” บอกว่า กระแสตอบรับเครื่องประดับจากฝาขวดน้ำค่อนข้างดีมาก ทางชุมชนมีฐานลูกค้าเพิ่มอีกหลายกลุ่มตามผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย จากเดิมกระถางต้นไม้จะเป็นกลุ่มลูกค้าคนรักต้นไม้ ชอบแต่งสวน แต่พอมาเพิ่มเป็นเครื่องประดับสวยงามเสริมสิริมงคล ก็ทำให้เพิ่มกลุ่มลูกค้าอีกแบบ หรือผลิตภัณฑ์แต่งบ้าน เก้าอี้ ก็ได้กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบงานศิลปะ งานตกแต่งเช่นกัน นอกจากการเพิ่มสินค้าแล้วทีมงานยังเข้าไปสอนการขายสินค้าผ่านออนไลน์ การไลฟ์สด การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายผ่านแอปพลิเคชัน การวิเคราะห์ข้อมูลเครดิตคาร์บอน รวมถึงการพาให้ชุมชนไปศึกษาดูงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในองค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้สิ่งที่มุ่งหมายจากการลงพื้นที่ชุมชน คือการที่พวกเขาสามารถอยู่ได้ ดำเนินกิจการ มีรายได้อย่างยั่งยืน โดยที่ไม่มีพวกเรา ชุมชนสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์จากที่ริเริ่มให้ขึ้นไปเรื่อย ๆ สร้างมูลค่าอีกมากมาย  ซึ่งนั่นก็คือการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นการลดการทิ้งขยะขวดพลาสติกเพื่อโลกไปในตัวได้อีกเช่นกัน

ผลงานการสร้างสรรค์ของนักศึกษาทีม Greenpeace นอกจากจะช่วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เกิดความยั่งยืนแล้ว ยังสามารถคว้ารางวัลประเภทรักษ์ดี ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2567 ด้วย  สำหรับผู้ที่สนใจสินค้ารักษ์โลก เสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ติดตามข้อมูลได้ทางเพจ Facebook / TikTok  วิสาหกิจชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ