อีกด้านในสถานการณ์นี้ นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ถึงมุมมองประเด็นกลุ่มเด็กผู้ลี้ภัย ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ไทยเพิ่งถอน “ข้อสงวน” ข้อที่ 22 ก่อนหน้าการประกาศสั่งปิดศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะไม่กี่วัน ท่าทีล่าสุดของการปิดศูนย์การเรียนรู้ จึงอาจไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์

พร้อมระบุที่ผ่านมา ไทยเป็นภาคีว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่ปี 2535 ขณะนั้นตั้งข้อสงวน “ไม่พร้อม” จะปฏิบัติตาม 3 ข้อ ก่อนค่อยๆ ถอนออก ได้แก่ ข้อ 7 ว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด สถานะบุคคลและสัญชาติ ข้อ 22 ว่าด้วยเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และ ข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา โดยข้อ 22 เพิ่งถอนไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นข้อสุดท้าย

สาระสำคัญในข้อ 22 ตรงประเด็นกับปัญหาการปิดศูนย์การเรียนรู้ เนื่องจากเด็กที่เรียนเหล่านี้เป็นกลุ่มลี้ภัยที่มาใช้แรงงานในไทย และไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ รัฐไทยจึงจำเป็นต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม และการศึกษาเป็นหนึ่งในนั้น

นายสุรพงษ์ ระบุ เดิมเมียนมามีการสู้รบรุนแรงแต่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ลี้ภัยมีโอกาสเดินทางกลับ และหลบหนีมาใหม่ ลักษณะหลบภัยชั่วคราว ต่างจากปัจจุบันที่การสู้รบมีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ไทยต้องเปิดค่ายผู้ลี้ภัย 9 ศูนย์บริเวณใกล้ชายแดนตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน ถึงราชบุรี ซึ่งขณะนี้ไม่เปิดรับเพิ่ม ทำให้ส่วนหนึ่งต้องอยู่นอกค่าย หรือไปอยู่กับญาติและใช้แรงงานในพื้นที่อื่น

ทั้งนี้ บางรายมาแบบครอบครัว หรือมามีครอบครัวในไทย มีบุตรติดตามมา หรือมีบุตรเกิดในไทย จนเกิดการอยู่ร่วมกันในกลุ่มแรงงาน แต่เพราะไม่ได้มาในรูปแบบแรงงานแต่เป็นผู้ลี้ภัย เมื่อมีการถอนข้อสงวน ข้อที่ 22 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ก็มองว่าไทยจำเป็นต้องดูแลลูกผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรมด้วย

“ตนมองว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งมีกฎระเบียบและวิธีการรองรับอยู่แล้ว แต่หลายพื้นที่หลายโรงเรียนไม่เปิดรับ ทำให้เด็กที่เคยได้รับการศึกษาจากประเทศตัวเอง ไม่ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง เป็นที่มาของการรวมตัวเพื่อจัดการศึกษาจนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้”

จากข้อมูลของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ พบว่ามีศูนย์การเรียนรู้อย่างน้อย 78 แห่ง ใน 9 จังหวัด มีนักเรียน 23,090 คน นายสุรพงษ์ ตั้งข้อสังเกตการมีศูนย์การเรียนรู้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่มาจากความบกพร่องของรัฐที่ไม่ยอมรับเด็กกลุ่มนี้เข้าระบบการศึกษา ทั้งที่กลับกันรัฐควรยินดีที่มีกลุ่มที่จัดการเรียนการสอน ช่วยแบ่งเบาภาระ และรัฐควรส่งเสริมสนับสนุน

ยกตัวอย่าง ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ จ.ระนอง เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ มีเจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมรับเด็กเข้าระบบ และปิดศูนย์การเรียนรู้ ส่งผลให้เด็กกว่า 3,000 คน ไม่มีที่เรียน และกระจัดกระจายหายไป ต่อมามีการเรียกร้องสิทธิเด็ก จึงมีการตรวจสอบและติดตาม แต่ปรากฏว่ามีเด็กสามารถเข้าสู่ระบบของรัฐซึ่งไม่ถึง 5% จากกว่า 3,000 คน ไม่รู้ที่เหลือหายไปไหน ข้อสังเกตกลุ่มที่หายไป อาจไปสร้างปัญหาให้บ้านเมืองได้ ต่อมาในพื้นที่จึงผ่อนปรนให้เปิดศูนย์การเรียนรู้ได้

ดังนั้น อยากฝากถึงภาคส่วนเกี่ยวข้องควรดูแลเด็กเหล่านี้จริงจัง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการต้องตรวจสอบในส่วนเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดระเบียบ และกำหนดมาตรการดำเนินการ หรือรองรับเรื่องที่เกิดขึ้น เช่น การพูด อ่าน เขียนภาษาไทย ที่อาจยังทำได้ไม่ดี กระทรวงศึกษาธิการควรออกแบบว่าจะทำอย่างไร อาทิ

ให้ความช่วยเหลือครูที่สอนอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ พัฒนาด้านทักษะภาษาไทย หรือมีการจ้างครูที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ มาเสริม เพื่อให้เด็กพัฒนาภาษาและมีทักษะเทียบเท่ากับเด็กไทย

“ตนอยากให้มองว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มพิเศษในการจัดการเรียนการสอน ที่รัฐต้องวางแผนการเรียนการสอนเข้ามาเสริม คล้ายการจัดการเรียนการสอนของกลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มเรียนรู้ช้า กลุ่มผู้พิการตาบอด อยากให้จัดให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละกลุ่ม”

นายสุรพงษ์ ยอมรับที่ผ่านมา รัฐไม่มีการจัดการในประเด็นเหล่านี้เลย ทำให้โรงเรียนไม่มีความพร้อม จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการมองปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน