เฟซบุ๊ก อิงค์ ตกลงที่จะจ่ายเงินสูงสุดถึง 14.25ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 475,807,500 บาท) เพื่อยุติการดำเนินคดีที่รัฐบาลกลางสหรัฐ ยื่นฟ้องข้อหาเลือกปฏิบัติในการจ้างงานคนอเมริกัน รวมถึงละเมิดกฎการจัดหาและจ้างงานของรัฐบาลกลาง

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้ยื่นฟ้องเฟซบุ๊กต่อศาล โดยกล่าวหาว่าบริษัทได้เอื้อประโยชน์ด้านการจ้างงานให้พนักงานชั่วคราว รวมถึงพนักงานที่ถือวีซ่าประเภท H-1B (วีซ่าที่ออกให้ลูกจ้างอาชีพพิเศษบางประเภท) ซึ่งอนุญาตให้บริษัทจ้างคนงานต่างชาติเป็นการชั่วคราวในตำแหน่งพิเศษ ทั้งนี้ มีการใช้วีซ่าประเภทนี้โดยทั่วไปในการจ้างงานของบริษัททางเทคโนโลยีต่าง ๆ

คริสเตน คลาร์ก ผู้ช่วยอัยการสูงสุดของสหรัฐ กองสิทธิพลเมือง กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กล่าวในระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า การตกลงครั้งนี้ถือเป็นการลงโทษทางคดีแพ่งครั้งใหญ่ที่สุดที่กองสิทธิพลเมืองทำได้สำเร็จในช่วง 35 ปีของประวัติศาสตร์แห่งบทบัญญัติเรื่องการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ภายใต้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติของสหรัฐ ที่ป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อคนงานเพราะสถานะพลเมืองหรือสถานะการเป็นผู้อพยพเข้าเมือง

คดีนี้มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การใช้ใบรับรองแรงงานถาวรของเฟซบุ๊กที่เป็นที่รุ้จักกันดีในชื่อของระบบ PERM รัฐบาลสหรัฐระบุว่า เฟซบุ๊กปฏิเสธที่จะจ้างงานชาวอเมริกันในตำแหน่งงานที่กันเอาไว้ให้พวกที่ถือวีซ่าชั่วคราวภายใต้ระบบ PERM นอกจากนี้ยังกล่าวหาเฟซบุ๊กว่า “มีแนวโน้มที่จะละเมิดกฎระเบียบว่าด้วยการจ้างงาน”

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กล่าวว่า Facebook ใช้แนวทางการจัดหางานที่เตรียมไว้เพื่อกีดกันคนงานในสหรัฐ เช่น กำหนดให้ส่งใบสมัครทางไปรษณีย์เท่านั้น ปฏิเสธการพิจารณาชาวอเมริกันที่สมัครงานในหลายตำแหน่งและจ้างเฉพาะผู้ถือวีซ่าชั่วคราวเท่านั้น นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานที่กำลังตรวจสอบใบสมัคร PERM ที่รอดำเนินการของ Facebook และเปิดเผยข้อกังวลอื่นๆ เกี่ยวกับวิธีการจัดจ้างบุคลากรของบริษัท

“Facebook ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย” สีมา นันดา ทนายความด้านแรงงานของสหรัฐ กล่าวและเสริมว่ากระทรวงแรงงานมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่ากระบวนการ PERM จะไม่โดนนายจ้างนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ว่านายจ้างเหล่านั้นจะเป็นบริษัทใหญ่แค่ไหนหรือมีอิทธิพลมากเพียงใด

เฟซบุ๊กจะจ่ายค่าปรับภายใต้ข้อตกลงที่ 4.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 158,650,000 บาท) บวกเพิ่มอีก 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 317,300,000 บาท) ให้ผู้เสียหายที่เข้าข่ายว่าถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ตามเกณฑ์ของรัฐบาล

“ขณะที่เราเชื่อมั่นอย่างสูงว่าเราทำตามมาตรฐานของรัฐบาล เรื่องแนวทางปฏิบัติด้านการรับรองแรงงานถาวร (PERM) เราก็ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อยุติการดำเนินคดีและก้าวต่อไปด้วยระบบ PERM ของเรา” โฆษกของ Facebook กล่าวและเสริมว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะว่าจ้างพนักงานที่ดีที่สุดทั้งในสหรัฐอเมริกาและจากทั่วโลก.

เครดิตภาพ : Reuters