เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีหลายพรรคการเมืองมีแนวโน้มว่าจะถอยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ว่า หลายพรรคการเมืองเคยมีนโยบายที่บอกกับประชาชนว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงรัฐบาลชุดนี้ ก็มีนโยบายซึ่งมีผลผูกพัน อย่างไรก็ต้องทำ แต่ตอนนี้คือมีการแฉลบ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรมีน้ำหนักตามสมควร โดยตอนที่จัดทำกฎหมายประชามติมีข้อเสนอ ข้อสังเกต และข้อคิดเห็นมาจากกระทรวงมหาดไทย ที่ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายฉบับใหญ่ที่ผูกพันประชาชน ควรจะมีเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยร่างกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีการเสนอเข้ามานั้น เขาใช้เสียงชั้นครึ่ง คือเขาต้องออกมาใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ แต่ที่จะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ ผู้มีสิทธิก่อนนั้น เรามาขอเขาให้ลดระดับลง เขาก็ยอมลดระดับลงมาเหลือ 1 ใน 4 ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ ซึ่งเราก็เอาตามเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)

เมื่อถามถึง กรณีที่วุฒิสภามีมติให้กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการทำประชามติ นายนิกร กล่าวว่า การพิจารณาของ กมธ.วุฒิสภา ก็มีการแฉลบมาเยอะ ในขณะที่มีการพิจารณาเป็นรายมาตรา ซึ่งการแก้ไขตามมาตรานั้น เป็นเหตุอ้างได้ในชั้นของวุฒิสภา จึงทำให้วุฒิสภาไหลไปทางนั้น แต่ถามว่าขณะนี้สิ้นหวังหรือยัง ก็ยัง เรายังมีโอกาสอยู่ คือสามารถประเมินกันได้เลยว่า หากแก้มาในหลักการเช่นนี้ ต้องกลับมาสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำมายืนยัน ซึ่งตนเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎร จะยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาแน่นอน เพราะเป็นหลักการใหญ่ ซึ่งหากไม่เห็นด้วย ก็จะต้องมีการตั้ง กมธ. ร่วมกัน

นายนิกร กล่าวต่อว่า วันที่ 9 ต.ค. สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาเรื่องนี้เพื่อยืนยัน ซึ่งจะต้องยืนยันอยู่แล้วไม่เช่นนั้นหน้าตาของสภาผู้แทนราษฎรจะอยู่ตรงไหน ถูกบีบมาเช่นนี้ โดยจะต้องมีการเสนอชื่อคนที่จะไปเป็น กมธ. 10 คน หลังจากนั้นก็จะต้องกลับเข้าไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 15 ต.ค. เพื่อเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็น กมธ. อีก 10 คน ส่วนวันที่ 16-23 ต.ค. กมธ.ร่วมต้องตกลงกันให้ได้ โดยภายในวันที่ 28 ต.ค. วุฒิสภาจะต้องยืนยันและเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของ กมธ.ร่วม ซึ่งหากทั้ง 2 สภา เห็นด้วยวันที่ 30 ต.ค. ก็จะมีผลและวันที่ 31 ต.ค. สามารถส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ในวันที่ 2 ก.พ. 68 ที่จะมีการเลือกนายก อบจ. ก็ยังทันอยู่ เพราะตอนแรกยังกังวล เนื่องจากเกรงว่าวุฒิสภาจะดึง

เมื่อถามว่า ยังมีหวังที่จะทำประชามติรอบแรกทันการเลือกนายก อบจ. ใช่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ตนกังวลว่าจะเลยเถิด เพราะอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร สามารถที่จะข้ามวุฒิสภาไปได้เลย คือแค่ยืนยันแล้วรอ 6 เดือน ที่จะกลับไปใช้เสียงข้างมาก 1 ชั้น ในการทำประชามติ ซึ่ง ครม. สามารถกำหนดเองได้ ทั้งนี้ หากผ่านการพิจารณาของสภา แล้วต้องกลับเข้ามาที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งหากถึงขั้นที่ข้ามวุฒิสภาไปแล้ว ก็จะเกิดปัญหาว่าเขาจะให้ 72 เสียงกับเราหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายมาตราหรือทั้งฉบับ เราก็จะไม่ได้รับเสียงจาก สว. เลย ตนยังห่วงตรงนี้อยู่ และมองว่าเรายังควรมีวุฒิสภาอยู่ แต่ไม่ควรที่จะมีปัญหากัน เดี๋ยวจะลุกลาม เพราะกฎหายทุกฉบับต้องผ่านระบบนี้อยู่ 

เมื่อถามว่า ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย เขามองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแล้ว นายนิกร กล่าวว่า ก็ไม่ใช่ แต่ก็ไม่มีเหตุที่จะมาดึงตรงนี้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเร่งด่วน แต่เป็นเรื่องของกฎหมายฉบับหนึ่งที่ควรจะเป็นอย่างไร และเราก็ไม่สามารถจะไปพูดได้ว่าภูมิใจไทยเกี่ยวข้องกับวุฒิสภาอย่างมีนัยสำคัญ เราอาจจะมองได้แต่พูดไม่ได้ เรื่องนี้อย่าไปคิดว่าใครจะได้อะไร แต่ให้คิดมุมกลับว่าใครจะเสียอะไร ซึ่งที่จะเสียแน่ๆ คือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้หวังว่าจะทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า “หวังเช่นนั้น และหวังมา 20 ปีแล้ว เราไม่ถอย หากมันจบ เราก็หวังต่อไปว่า 180 วัน ก็ 180 วัน เราจะสามารถดีกันได้ เราต้องมาร่วมกันทั้ง 2 สภา ต้องยอมถอยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างยืน แล้วก็ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีพรรคไหนหรือสภาไหนเสีย มีแต่ประชาชนเสียโอกาส“

เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร กล่าวว่า เราอยากได้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอยู่แล้ว เพียงแค่ไม่มีการแก้ไขมาตราเหมือนนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะหากแก้ไขรายมาตรา เราจะไปคิดแทนประชาชน ซึ่งเราต้องการรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน สามารถแก้ไขได้บ้าง ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้เลย และเราต้องการ ส.ส.ร. เพื่อต้องการลดความขัดแย้ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากทหาร.