ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการส่งเสริมการสนับสนุนดำเนินการตามกฎระเบียบว่าด้วยการไม่ตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ได้เสนอขยายระยะเวลาในการเตรียมปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลก ทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศที่ไม่เป็นสมาชิก ไปอีก 12 เดือน เพื่อให้ทุกประเทศสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่นตั้งแต่เริ่มต้นบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลให้เริ่มมีการบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR กับบริษัทหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และวิสาหกิจขนาดย่อมหรือผู้ประกอบการรายย่อย ในวันที่ 30 มิถุนายน 2569 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวยังต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภายุโรปและคณะรัฐมนตรีแห่งสหภาพยุโรปอีกครั้ง  ซึ่งการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าว ถือเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุน ผู้ประกอบกิจการรายใหญ่และรายย่อย ไปจนถึงเกษตรกรชาวสวนยางในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ให้สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อให้มาตรฐานยางไทยเป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR ได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ โดยขณะนี้การบริหารจัดการยางของไทยภายใต้กฎระเบียบ EUDR สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม การเพิ่มระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้ไทยสามารถสอบทานหรือพัฒนาระบบการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มร้อย ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กยท. จึงเตรียมเชิญตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนเข้าหารือเพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกัน

“ไทยมีความพร้อมในการจัดการยางตามกฎระเบียบ EUDR อยู่แล้ว การจ่อเลื่อนกำหนดบังคับใช้กฎระเบียบฯ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พอจะทราบกันมาบ้างแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก เพราะสุดท้ายแล้วก็ยังคงมีการบังคับใช้กฎระเบียบนี้อย่างแน่นอน ไม่อยากให้มองว่าเรื่องนี้เป็นปัจจัยในการกำหนดราคายาง แต่ควรเห็นเป็นโอกาสในการพัฒนาความพร้อมยางไทยให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันตลาดโลกยังคงมีความต้องการผลผลิตยาง EUDR เป็นจำนวนมาก เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง”

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎระเบียบนี้ เป็นการย้ำความชัดเจนที่จะให้ทุกประเทศใช้ช่วงเวลานี้เร่งดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพพร้อมกันทั่วโลก เนื่องจากมีพันธมิตรระดับโลกหลายประเทศที่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความพร้อมต่อเรื่องดังกล่าว สำหรับประเทศไทยนั้น กยท. ได้มีการกำชับให้ผู้ประกอบการ สถาบันเกษตรกร ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนยางปฏิบัติตามกฎระเบียบมาอย่างต่อเนื่อง โดยไทยถือว่ามีความพร้อมในด้านนี้แล้ว และจะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนตามกฎระเบียบอย่างจริงจังต่อไป และในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ กยท. เตรียมเชิญประชุมหารือแนวทางกับผู้ประกอบการ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งกำหนดท่าทีร่วมกันสำหรับอนาคตของยางไทยในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งหลังจากการประชุมหารือครั้งนี้ จะมาอัปเดตความคืบหน้าให้ทราบกันอีกครั้ง