ถิ่นที่อยู่หรือบ้านของฮิปโปก็ควรอยู่ในป่าธรรมชาติ พร้อมชวนมาบอยคอต (Boycott) สวนสัตว์ที่กักขังสัตว์ป่าของไทยนั้น นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
(TSPCA)

สำหรับในกรณีดังกล่าว โดย ดร.สาธิต มีความคิดเห็นส่วนตัวว่า เป็นเรื่องที่คนสนใจกันทั่วโลก เพราะกระแสความนิยมของน้องหมูเด้ง เซเลปฮิปโปแคระของไทย “ทูตแห่งดวงดาวดวงน้อย” ของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ในขณะนี้ ส่วนตัวก็ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด สำหรับกรณี “หมูเด้ง” นั้น ส่วนตัวคิดว่าทาง PETA อาจจะมีข้อมูลไม่ครบถ้วนรอบด้าน และยังคงมาตรฐานเดิม ในการใช้เป็นเครื่องมือในกิจกรรมการรณรงค์ Boycott ชาติอื่น ๆ เช่น เรื่องลิงเก็บมะพร้าวที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักในเรื่องธุรกิจอุตสาหกรรมมะพร้าว แน่นอนบางเรื่องก็อาจมีข้อเท็จจริงที่เป็นจริงที่ PETA มีข้อมูลและทำได้ดี สร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง แต่บางกรณีก็เป็นเรื่องที่รับข้อมูลเพียงด้านเดียวจากบางกลุ่ม ทำให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนรอบด้าน บางกระแสทำให้มีกลุ่มหาผลประโยชน์บางประการจากกระแสนั้น แต่ที่แน่นอนบางกรณีก็เป็นการทำลายชื่อเสียงและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นมุมมองของต่างชาติที่มองประเทศไทย ดังที่ผ่านมา

ส่วนตัวมองว่า PETA ก็ควรฟัง เคารพถึงสิทธิของกันและกัน ถ้าเรื่องที่พูดเป็นจริงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ควรแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ถ้าไม่จริงก็ชี้แจง ทำความเข้าใจกันในข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกรณี “หมูเด้ง” ส่วนตัวมองว่า 1. ประเทศไทยมีแนวคิดการใช้สัตว์ แบบต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) คือ ใช้สัตว์ได้บ้างตามสมควร แต่ต้องมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมและจริยธรรม ที่จะไม่ปฏิบัติต่อสัตว์อย่างทารุณโหดร้ายโดยไม่จำเป็น และต้องมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพียงพอเหมาะสม บนพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของสัตว์นั้น สำหรับแนวคิดของต่างประเทศ บางประเทศ เช่นกลุ่ม PETA อาจใช้แนวคิดแบบสิทธิสัตว์ (Animal Right) คือการให้สัตว์อยู่อย่างอิสระ ไม่ถูกฆ่าหรือทำให้ทรมาน หรือนำสัตว์มาใช้ประโยชน์ต่างๆ ซึ่งทั้งสองแนวความคิดก็เป็นความคิดความเชื่อพื้นฐานในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน

2.ตามข้อมูลพบว่า ปัจจุบันสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี ที่อยู่ของ “หมูเด้ง” ขณะนี้ เป็นสถานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสวนสัตว์ระดับโลกจาก สมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก หรือ World Association of Zoos and Aquariums (WAZA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่หลักในการดูแลและจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งด้านการศึกษา พัฒนาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนและความสมดุลของโลกใบนี้ ทั้งนี้ สมาชิกสมาคมฯ ประกอบด้วย สวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำชั้นนำ สมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำระดับภูมิภาคและระดับชาติมากกว่า 250 แห่ง ตลอดจนองค์กรในเครือ เช่น สัตวแพทย์ในสวนสัตว์หรือผู้ให้การศึกษาด้านสวนสัตว์ ประมาณ 1,300 แห่งเชื่อมโยงกับ WAZA ผ่านการเป็นสมาชิกสมาคมระดับภูมิภาคหรือระดับชาติประมาณ 25 แห่งจากทั่วทุกมุมโลก โดยทั้งหมดรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อการอนุรักษ์ มาตรฐานในการดูแลสัตว์ สมาชิกทุกคน จะต้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม “จรรยาบรรณและสวัสดิภาพสัตว์ของ WAZA” สำหรับ “หมูเด้ง” ฮิปโปแคระ ปัจจุบันถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยง ที่กำเนิดในกรงเลี้ยง เป็นสัตว์ป่านอกถิ่นอาศัยและมีการพัฒนาการจากสัตว์ป่าทั่วไป แม้จะไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในไทย แต่ประเทศไทยมีการเลี้ยงดูและจัดสวัสดิภาพที่ดี มีสัตวแพทย์ที่มีความรู้ประสบการณ์และเชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ฮิปโปมีการขยายพันธุ์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะฮิปโปเป็นสัตว์เพาะพันธุ์ยากใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งในอนาคตถ้ามีจำนวนมากขึ้น อาจจะมีการนำกลับไปเติมเต็มปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในสถานที่ถิ่นกำเนิดเดิมที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป

3. ด้านการจัดสวัสดิภาพและการป้องกันการทารุณกรรม “หมูเด้ง” ปัจจุบันประเทศไทยเรามีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์พ.ศ.2557 ซึ่งก็มีที่มาจากการเรียกร้องให้ประเทศไทยยกระดับมาตรฐานในการดูแลเลี้ยงดูสัตว์ การจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี และมีการปฏิบัติต่อสัตว์เพื่อไม่ให้มีการทารุณกรรมโดยไม่จำเป็น ซึ่งหลักกฎหมายก็เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล ดังนั้น ประเทศไทยมีกฎหมายเฉพาะการดูแลจัดสวัสดิภาพสัตว์ของไทยอยู่แล้ว การปฏิบัติกับสัตว์ก็ต้องเป็นไปตามหลักการกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนความคิดเห็นหรือความรู้สึกส่วนตัวนั้นต้องเคารพ ซึ่งกันและกันแต่จะต้องไม่ละเมิดซึ่งกันและเป็นไปตามมรรยาทสากล โดยความรู้สึกจะใช้เป็นหลักกฎหมายให้บังคับหรือปฏิบัติต่อกันไม่ได้

ดังนั้น ขอฝากไว้ว่า จากกรณีดังกล่าว การดูแล น้องหมูเด้ง ที่ผ่านมาก็ดีในระดับหนึ่งตามระบบมาตรฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วโลก แต่ถ้าจะดูแลให้ดียิ่งขึ้นไป ควรดูแลเรื่อง สภาพแวดล้อม (ชั่วคราว) เช่น กรณีฝูงลิง ที่เข้ามาแย่งอาหารและอื่น ๆ และขอฝากให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ที่ดูแลทูตแห่งดวงดาวดวงน้อยนี้ ที่สร้างปรากฏการณ์แทนคนทั้งโลก ให้คนหันกลับมาดูแลสัตว์ เพื่อการอนุรักษ์ แต่ก็ขอฝากผู้ดูแลอีกเช่นกัน ควรลดการสัมผัสสัตว์ให้น้อยลง เพราะบางครั้งมุมมองภาพอาจจะดูเกินเลยไปโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือนักท่องเที่ยวควรให้น้องได้พักผ่อนตามธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้น จะเป็นการดีอีกระดับหนึ่งต่อไป.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่