นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงมาตรฐานความปลอดภัยของรถทัศนาจร หรือรถรับจ้างไม่ประจำทางภายหลังเกิดเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาจนมีนักเรียนและครูเสียชีวิตรวม 23 รายว่า แม้ว่ากรมการขนส่งทางบก(ขบ.) จะมีความพยายามในการปรับปรุงมาตรฐานรถโดยสารขนาดใหญ่ในหลายประเด็น รวมถึงมาตรฐานด้านการลุกไหม้มาตั้งแต่ปี 59 โดยออกประกาศ ขบ. เรื่องกำหนดคุณสมบัติด้านการลุกไหม้การลามไฟของวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในรถโดยสารแต่ปรากฎว่าประกาศดังกล่าวถูกเลื่อนการบังคับใช้อยู่เรื่อยๆ ด้วยเหตุผลเพราะผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมในการแบกรับต้นทุนจากการเปลี่ยนไปใช้วัสดุกันไฟที่มีราคาแพง จนกระทั่งสุดท้ายเพิ่งบังคับใช้ได้จริงในปี 65 แต่กลับไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งหมายความว่าใช้บังคับได้เฉพาะกับรถที่จดทะเบียนใหม่ หรือมีการปรับปรุงตัวถังใหม่ในปี 65 เท่านั้นโดยรถคันที่เกิดเหตุเป็นหนึ่งในกรณีที่ไม่เข้าเงื่อนไขของประกาศฉบับนี้เนื่องจากมีการจดเบียนใหม่ในปี 61

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรถทัศนาจรในกลุ่มมาตรฐาน 1 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับรถคันที่เกิดเหตุ มี 5,896 คัน และรถมาตรฐาน 4 หรือรถ 2 ชั้น มี 4,972 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในจำนวนทั้งหมดกว่า 1 หมื่นคันนี้มีเพียง 5% เท่านั้นที่ผ่านมาตรฐานด้านการลุกไหม้ และอนุมานได้ว่า ส่วนที่เหลืออีก 95% ที่เป็นรถจดทะเบียนก่อนประกาศดังกล่าวบังคับใช้  ยังไม่ถูกกำหนดให้มีมาตรฐานนี้ ขณะที่ในต่างประเทศเวลากำหนดมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้จะให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังด้วย และต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี

“หากดูเรื่องวัสดุทนไฟต่างๆ คาดว่ามีรถที่ไม่ผ่าน หรือไม่ได้มาตรฐานใหม่ตามที่ ขบ. กำหนดเป็นหมื่นคันจำนวนนี้แสดงให้เห็นถึงขนาดของปัญหาที่วิ่งอยู่บนท้องถนนตอนนี้ เสมือนกับเป็นระเบิดเวลาที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุขึ้นอีกเมื่อไหร่ ดังนั้น ขบ. ควรติดตามตรวจสอบรถในกลุ่มนี้ที่ยังวิ่งอยู่ในระบบ อาทิ ด้านมาตรฐานทนไฟ การชนด้านหน้า สภาพรถเป็นอย่างไร ติดก๊าซหรือไม่ ฯลฯ โดยเร่งกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นในรถกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งฯ ทีดีอาร์ไอ กล่าว

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า เหตุที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัยของรถทัศนาจรซึ่งความเสี่ยงนี้กระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชน โจทย์ใหญ่ของรัฐคือจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้รถเหล่านี้มีมาตรฐานด้านวัสดุทนไฟให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งภาครัฐอาจต้องเข้ามาร่วมกับผู้ประกอบการให้ปรับปรุงมาตรฐานดีขึ้นโดยสร้างแรงจูงใจต่างๆ อาทิ การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงไปยังผู้ประกอบการ หรืออาจมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทุนในการปรับปรุงมาตรฐานรถ ทั้งการเปลี่ยนวัสดุไวไฟ เช่น เบาะที่นั่ง ม่าน พรม ให้เป็นไปตามมาตรฐาน UNECE ซึ่งคือการใช้วัสดุที่ทนไฟได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟลุกไหม้จะไม่เร็ว และแรง สามารถช่วยซื้อเวลาให้ผู้โดยสารหนีออกภายนอกตัวรถได้

สำหรับกรณีระยะเวลาการใช้งานของรถคันเกิดเหตุที่พบว่ามีการจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 13 นั้น นายสุเมธ กล่าวว่า องค์ประกอบหลักของรถจะมี 2 ส่วน คือ โครงหลัก หรือที่เรียกว่าแชสซี ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของรถ ซึ่งอยู่ด้านใต้ตัวรถติดกับโครงล้อ ซึ่งปกติรถขนาดใหญ่จะจดทะเบียนครั้งแรกด้วยแชสซี ซึ่งส่วนนี้มีอายุการใช้งาน 70-80 ปี และอีกส่วน ที่เป็นโครงสร้างที่มีปัญหาคือ ตัวถังรถ ซึ่งประกอบด้วย หลังคา ประตู เบาะที่นั่ง โดยตัวถังรถมีอายุการใช้งาน 8-10 ปีเท่านั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ

การตัดสินใจว่าจะปรับปรุงตัวถังรถหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเป็นหลักว่าต้องการเปลี่ยนหรือไม่เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการกำหนดอายุรถ หรือระยะเวลาการปรับปรุงสภาพรถ มีแต่การตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัยโดยขบ. 2 ครั้งต่อปี อย่างไรก็ตามความเสื่อมสร้างความเสี่ยง จะมีการปรับปรุงความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร การตรวจสอบมีความเข้มงวดมากน้อยขนาดไหน ตรงนี้ล้วนเป็นประเด็น เพราะมาตรฐานการติดตั้ง ยังเป็นสิ่งที่มีความท้าทายในการตรวจสอบอยู่ หากการติดตั้งทำโดยช่างผู้ชำนาญการก็จะได้มาตรฐานสูง แต่ถ้าติดตั้งโดยไม่รัดกุมมากนักก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ ประกายไฟได้

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า รถทัศนาจรยังคงต้องมีอยู่ แต่จะต้องแก้ไขในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อทำให้ประชาชนมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่จะต้องรีบทำ และควรมีข้อกำหนดให้มีการสื่อสารวิธีการเอาตัวรอดให้กับผู้โดยสารได้รับทราบเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินเหมือนกับการเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีกระบวนการเป็นข้อบังคับนี้ในรถทัศนาจรทุกคัน ขณะเดียวกันควรยกระดับพนักงานขับรถด้วย.