วันที่ 3 ต.ค. ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยหลังหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง 30 นาที ว่า ในการหารือกับผู้ว่าการ ธปท. มีการเห็นภาพที่ตรงกันมากขึ้น และเชื่อว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ต.ค. นี้ กนง. จะนำภาพข้อมูลเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาคุยกันอย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย

“ปล่อยให้ กนง. ตัดสินใจ แต่ดอกเบี้ยถ้าลดลง ก็จะเป็นผลดีกับคนกู้ที่มีความสามารถในการกู้ และเรื่องการเข้าถึงเงินทุนสำคัญกว่า ส่วน กนง. จะตัดสินใจอย่างไรขึ้นอยู่กับการพิจารณา เพราะหากลดก็ต้องตอบให้ได้ว่าลดเพราะอะไร หรือหากไม่ลดก็ต้องตอบว่าเพราะอะไร โดยรัฐบาลมองว่าการลดดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่ก็มองว่า ธปท. ก็มีเครื่องมืออื่นๆ อีกหลายอย่างด้วย ที่จะนำมาทำได้ ซึ่งคลังและ ธปท. เห็นตรงกันว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องสภาพคล่อง แต่เป็นการปล่อยกู้ที่สถาบันการเงินมีความกังวล”

ทั้งนี้ เชื่อว่า กนง. จะนำข้อมูลต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ เช่น การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ การปรับนโยบายการเงินของยุโรป และการออกมาตรการต่างๆ ในจีน ซึ่งสิ่งต่างๆ จะมีผลต่อเงินที่ไหลเข้ามาและมีผลต่อค่าเงินบาท แม้ในเวลานี้เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า เชื่อว่าไม่กระทบกับปริมาณการส่งออก และคาดว่าการส่งออกในไตรมาส 4 ปีนี้จะดีขึ้น เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว

นายพิชัย กล่าวว่า ในเรื่องการปรับกรอบเงินเฟ้อ จากปัจจุบัน 1-3% นั้น จะมีการหารือกันอีกครั้งอย่างละเอียดในช่วงเดือน ต.ค. นี้ เนื่องจากมองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อของไทยในไตรมาส 4 ปีนี้จะอยู่ที่ 1% และทั้งปีนี้น่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ 1-3% ดังนั้นจะต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไร เมื่อเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ ในการหารือครั้งนี้ยังหาแนวทางร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ในกลุ่มที่ยังสามารถเดินต่อได้ ยังชำระหนี้ต่อไปได้ และกลุ่มเปราะบางที่ปัจจุบันมีสัดส่วนของการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ค่อนข้างเยอะ แต่มูลค่าหนี้ต่ำ จะเข้าไปช่วยดูแลได้อย่างไร