นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)  ฝ่ายวิชาการ ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า ได้เข้าร่วมคณะเจรจาเงินกู้ของฝ่ายไทย สำหรับโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)  หมายเลข 7 หรือ M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา

ซึ่งมีสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นหน่วยงานหลัก และมีผู้แทนจากกรมทางหลวง สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมการเจรจาเงินกู้กับผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank, ADB) ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งได้ข้อสรุปเรื่องเงินกู้แล้ว

โครงการ M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับด้านละ 2 ช่องจราจร ระยะทาง 1.920 กม. วงเงินลงทุน 2,788 ล้านบาท รวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 305 ล้าน  รวมเป็น 3,093 ล้านบาท ใช้เงินกู้ประมาณ 80% (2,440 ล้านบาท) และเงินงบประมาณ 20% (ใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่กันเงินไว้)  ลดลงจากเดิม 4,508 ล้านบาท เนื่องจากตัดเนื้องานโครงสร้างทางวิ่งเข้าสนามบิน ให้ทางสนามบินสร้างถนนมาเชื่อมบริเวณจุดตัดถนนสุขุมวิท

ตามขั้นตอนหลังจากนี้ทาง ADB จะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ขณะที่ทาง สบน. จะนำเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบประมาณเดือนพ.ย. 2567  และลงนามสัญญากู้เงินจาก ADB ต่อไป หลังจากนั้น กรมทางหลวงจะลงนามสัญญาผู้รับจ้าง คาดว่าประมาณเดือน ธ.ค. 2567 หรือต้นเดือน ม.ค. 2567 ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวง ได้เริ่มกระบวนการประกวดราคาแบบนานาชาติแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอผลการประกวดราคาไปให้ ADB พิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี  

นายปิยพงษ์  กล่าวต่อว่า  M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ก่อสร้างตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีจุดเริ่มต้นที่กม.148+328 ถัดจากด่านเก็บเงินอู่ตะเภา มุ่งหน้าทิศใต้ข้ามทางรถไฟสายตะวันออก ขนานแนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

มีจุดสิ้นสุดเป็นทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัด ทล.3 (ถนนสุขุมวิท) เชื่อมต่อกับถนนโครงข่ายเชื่อมเข้าอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่สนามบินอู่ตะเภา และมีทางบริการระดับพื้นเพื่อรองรับการสัญจรผู้ใช้เส้นทางบริเวณใต้ทางยกระดับ รวมทั้งก่อสร้างช่องทางเลี้ยว และทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัด ทล.3 พร้อมขยายทล.3 จาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจรระยะทาง 5.650 กม.

จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางสู่สนามบินอู่ตะเภาจากเดิม 5 กม. เหลือเพียง 1.92 กม.โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง (ฟรี) เนื่องจากส่วนต่อขยายอยู่นอกบริเวณด่านอู่ตะเภา และไม่สร้างด่านเพิ่มเติม เบื้องต้นคาดการณ์ในปีเปิดบริการจะมีปริมาณจราจรจาก M7 สู่สนามบินอู่ตะเภา 22,000 คัน/วัน เพิ่มขึ้นเป็น 27,600 คัน/วัน และ 41,300 คัน/วันในปีที่ 10 และปีที่ 30 ตามลำดับ  ช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางเข้า-ออกสนามบินอู่ตะเภาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รองรับอีอีซี เมืองท่า เมืองศูนย์กลางการบิน และเมืองธุรกิจที่สำคัญของไทย

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า โครงการมีผู้เสนอราคาก่อสร้าง 3 ราย บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ขณะนี้กรมทางหลวง ยังไม่ประกาศผลผู้ชนะประมูล