มีนัก CSR และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนยุคใหม่ ชอบถามผมว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ เริ่มต้นกันมาอย่างไร จึงขอเล่าเรื่องราวย้อนอดีตเบื้องหลังการถ่ายทำเท่าที่ผมอยู่ในเหตุการณ์ ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจการเดินทางของ CSR สู่ SDG

กว่า 30 ปีแล้ว ที่นักธุรกิจทั่วโลกถูกต่อว่าในงานประชุมการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ UN จัดขึ้น ณ กรุงรีโอ เด จาเนโร ในปี พ.ศ. 2535 ที่ประชุมตำหนิว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาทั่วโลก เขาเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจมีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะในอีกไม่กี่ปีจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ถ้าไม่รีบปรับปรุงวิธีทำธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม เราจะเผชิญหายนะทุกรูปแบบอย่างคาดไม่ถึง

กว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ที่มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมจากหลายสำนัก เช่น UN Global Compact, OECD Guideline for Multinational Enterprises, และ ISO 26000 เพื่อเป็นมาตรฐานการดำเนินกิจการใหม่ โดยช่วงนั้นเรียกว่า CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) ซึ่งถูกจับตามอง และตรวจสอบโดย NGO ทั่วโลก ให้ทุกองค์กรสร้างสมดุลของ 3 P, People, Planet, Prosperity ขณะเดียวกัน สายธนาคารโดย World Bank ก็ขับเคลื่อนองค์กรทุน ธนาคาร และนักลงทุนให้ตรวจสอบความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านรายงานที่มีมาตรฐาน ที่นักลงทุนจะเลือกสนับสนุนองค์กรที่ยั่งยืนโดยใช้มิติ ESG Environmental, Social, Governance เป็นเกณฑ์

ที่จริงแล้ว CSR และ ESG ก็เป็นเรื่องเดียวกัน ต่างกันแค่รายละเอียดของผู้ที่จับตามอง และทั้งคู่ก็นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG เหมือนกัน

กว่า 15 ปีแล้ว ที่นักธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับ CSR โดยช่วงแรกตลาดหลักทรัพย์ได้ส่งเสริมให้ความรู้แก่บริษัทจดทะเบียน โดยตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม CSRI และต่อมาได้สนับสนุนให้เกิด CSR Club ซึ่งในยุคนั้นคือกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทรงพลังที่สุด เป็นการวางรากฐานธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการขับเคลื่อน CSR ของไทย ช่วยขับเคลื่อนองค์กรขนาดกลาง ขนาดเล็ก องค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ และหน่วยงานราชการ

กระทรวง พม. ได้วางรากฐานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ โดยก่อตั้งเป็น CSR จังหวัด เป็นเครือข่ายรวมพลังกันแก้ปัญหาสังคม ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มงบประมาณ และอาสาสมัครจากภาคธุรกิจเข้ามาช่วยงานของกระทรวงพม. ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงน้อยนิดเทียบกับภารกิจอันสำคัญ

เกือบ 10 ปีแล้ว ตั้งแต่มีการประชุมเพื่อเริ่มขบวนการก่อตั้ง CSR จังหวัดแรกที่จังหวัดราชบุรี ในปี พ.ศ. 2558 ในปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2566 กระทรวง พม. ได้สนับสนุนให้เกิด CSR จังหวัดครบทุกจังหวัดทั่วไทยแล้ว และปีนี้ได้มีการเฉลิมฉลองโดยจัดงานมอบรางวัลดีเด่น CSR Award 2024 ของกระทรวง พม. เป็นครั้งแรก

โดยปีนี้ CSR จังหวัดที่ได้รับรางวัลดีเด่น 3 รางวัล ได้แก่ ขอนแก่น สิงห์บุรี และบุรีรัมย์ รางวัลชมเชย 6 รางวัล ได้แก่ บึงกาฬ ราชบุรี แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม สุราษฎร์ธานี และยังมีบริษัทที่ได้รับรางวัล CSR ดีเด่นทั่วประเทศไทยอีกจำนวน
67 องค์กร

“วราวุธ ศิลปอาชา” รมว.พม. ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่องค์กรที่ทำงานด้าน CSR ดีเด่น และนักธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมต้นแบบที่มาจากทั่วประเทศ และได้กล่าวขอบคุณที่ทุกท่านได้นำความรู้ ความสามารถ และงบประมาณมาช่วยภารกิจของกระทรวง พม. ท่านยังบอกด้วยว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG เป็นสิ่งสำคัญ ต้องการความร่วมมือของทุกภาคส่วนมาช่วยกัน เราจะทำคนเดียว หรือต่างคนต่างทำไม่ได้อีกต่อไป ทางรัฐบาลก็มีการทำงานข้ามกระทรวงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ต้องมาช่วยกันเพราะเราเห็นประจักษ์แล้วว่ามหันตภัยโลกเดือดมาเยือนเราทุกวัน ทวีความรุนแรง ทำลายสถิติต่าง ๆ สร้างความเดือดร้อนให้มวลมนุษยชาติ สำหรับคนยากจน และกลุ่มเปราะบาง ที่เคยลำบากอยู่แล้ว ยิ่งเดือดร้อนทวีคูณ

วันนี้ ผู้ที่ทำงานด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น CSR CSV ESG BCG SDG ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ที่จะต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่าย เริ่มต้นจากรวมตัวกันในระดับจังหวัด ที่ CSR จังหวัดของกระทรวง พม. ที่มีครบแล้วทุกจังหวัด ช่วงนี้คงจะต้องช่วยกันทำงานจิตอาสาบรรเทาสาธารณภัย ช่วยเหลือความเดือดร้อนเฉพาะหน้าไปก่อน แล้วค่อยวางแผนช่วยกันฟื้นฟู และหาแนวทางไม่ให้เกิดขึ้นซํ้าซากต่อไป

CSR ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นหน้าที่สำคัญของทุกองค์กร มาร่วมมือกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ยั่งยืน.