ชุมชนบ้านบุญแจ่ม” อ.ร้องกวาง จ.แพร่ หนึ่งตัวอย่างความภาคภูมิใจของชุมชนท้องถิ่นที่มุ่งมั่นอนุรักษ์ป่า ควบคู่ไปกับการช่วยกันรักษาความหลากหลายระบบนิเวศ และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้ปัจจุบันได้กลายเป็นอีกแหล่งสำคัญในการจัดการ“คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ได้อย่างยั่งยืน และถูกยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ.แพร่

การใช้มูลสัตว์ผลิตพลังงานชีวภาพคือ“จุดขาย” เนื่องจากเดิมในพื้นที่มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงสุกร จำนวน 2,000 ตัว แต่ต่อมาประสบปัญหาเรื่องกลิ่น จึงนำเรื่องพลังงานทดแทนมาขับเคลื่อนแก้ปัญหา โดยทำบ่อบำบัดน้ำเสีย ขนาด 1,000 ลูกบาศก์เมตร จนสามารถต่อท่อจ่ายก๊าซให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ประมาณ 160 ครัวเรือน

ต่อมามีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เข้ามาตรวจสอบปริมาณคาร์บอนเครดิต และเข้าสู่กระบวนการขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกในปี 2564

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ธ.ก.ส. มีความสนใจและเข้าไปติดต่อขอซื้อคาร์บอนเครดิตของชุมชนบ้านบุญแจ่ม ผ่านการหารือร่วมกับผู้นำชุมชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันจนกลายเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตในภาคฟาร์มปศุสัตว์ โดย ธ.ก.ส. จะใช้เป็น “ต้นแบบ” ให้กับฟาร์มอื่นที่ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเลี้ยงปศุสัตว์

ถังผลิตก๊าซชีวภาพ

เป้าหมายเพื่อให้สามารถนำคาร์บอนเครดิตกลับมาขายให้ธนาคารได้ โดยในอนาคต ธ.ก.ส. คาดหวังจะเป็นผู้รับซื้อหลัก

มีเสียงสะท้อนความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับว่าการขายคาร์บอนเครดิต นอกจากเป็นโอกาสทำเงิน ชาวบ้านยังได้ใช้ก๊าซฟรีโดยจ่ายค่าบริการเพียงเดือน 50 บาท ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลงมาก จากเดิมต้องเสียเงินค่าก๊าซหุงต้มต่อครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 800-900 บาท

จากหมู่บ้านที่ลำบาก กลายเป็นหมู่บ้านพออยู่พอกิน มีเงินเก็บออม สังคมน่าอยู่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยน เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ตามแนวคิดรักษาป่า ลดต้นทุน เพิ่มค่าผลิตภัณฑ์ ที่สามารถส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น ๆ

สำหรับ “ป่าชุมชนบ้านบุญแจ่ม” ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำและป่า ต้นไม้ประจำป่า คือ “ต้นดิ๊กเดียม” มีจุดเด่นสามารถโยกเยกเองได้ ผู้คนในชุมชนมีความเข้มแข็งในการรวมตัวรักษาสิ่งแวดล้อม สังเกตได้จากการทำประชาคม วางแผนปลูกป่าทดแทนป่าที่เสื่อมโทรม จากการถูกตัดทำลาย จนอาจนำไปสู่ภัยธรรมชาติ

ลานสำหรับตากมูลสุกร

ทั้งนี้ มีการคัดเลือกคณะกรรมการป่าชุมชน จำนวน 15 คน เข้าไปอบรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า ดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม ปูทางสร้างจิตสำนึกรักและหวงแหนป่า ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ และมีมติขยายพื้นที่ป่าชุมชนออกไป แต่ละปีชาวบ้านจะร่วมกันปลูก ร่วมกันฟื้นฟูป่าในวันสำคัญต่าง ๆ ของทุกปี

บ่อหมักแก๊สแบบถุงหมักพีวีซี

ปัจจุบันป่าชุมชนบ้านบุญแจ่มถือเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน เป็นศูนย์เรียนรู้ทางธรรมชาติและความหลากหลายของชุมชนต่าง ๆ ไม่เฉพาะในพื้นที่ แต่ยังเป็นต้นแบบการศึกษาของจังหวัดอื่น ๆ ด้วย.