เวลาที่เราจะอุ่นอาหารในไมโครเวฟ มีหลายคนที่นิยมใช้แรปพลาสติกห่ออาหาร หรือภาชนะใส่อาหารก่อนนำเข้าไปเวฟ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ควรจะห่อแบบแน่น ๆ ตึง ๆ เลย หรือห่อหลวม ๆ ก็พอ

การอุ่นอาหารในไมโครเวฟ จะทำให้โมเลกุลของน้ำในอาหารกลายเป็นไอ ฉะนั้นการอุ่นจะทำให้อาหารแห้งแข็ง เนื่องจากน้ำในอาหารหมดไป การปิดภาชนะหรือห่ออาหารด้วยฟิล์มพลาสติก จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของอาหารเอาไว้ได้ ทำให้อาหารยังคงนุ่ม ไม่แห้งกระด้างเกินไป โดยเราสามารถใช้พลาสติกแรปชนิดที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ เพื่ออุ่นอาหารในไมโครเวฟที่ใช้เวลาไม่นาน และความร้อนไม่สูงเกินไป หากเป็นการปรุงอาหารให้สุก ไม่ควรใช้พลาสติกแรปโดยเด็ดขาด รวมทั้งไม่ควรใช้พลาสติกแรปอุ่นอาหารที่มีน้ำมันจำนวนมาก

Asahi Kasei Home Products บริษัทญี่ปุ่นผู้ผลิต Saran Wrap พลาสติกแรปซึ่งใช้ในการห่ออาหารที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ เปิดเผยวิธีการ และข้อควรระวังเมื่อใช้พลาสติกแรปห่ออาหารเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ ผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพวกเขา

จากข้อมูลของ Asahi Kasei Home Products เมื่อใช้พลาสติกห่ออาหารนำเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ “สิ่งสำคัญคือต้องห่ออย่างหลวม ๆ” เมื่อพลาสติกแรปถูกความร้อนในไมโครเวฟ ไอน้ำจากอาหารสามารถสร้างแรงกดบนฟิล์มจนทำให้ฉีกขาดได้ หากเราห่อเอาไว้ตึงเกินไป ดังนั้น เคล็ดลับคือการห่อให้หลวมเล็กน้อย

นอกจากนี้ เมื่ออุ่นอาหารในไมโครเวฟ ด้วยการห่อพลาสติกแรปโดยตรงกับอาหาร สิ่งสำคัญคือต้องห่อให้มีช่องว่างระหว่างพลาสติกกับอาหาร อย่าห่ออาหารโดยให้พลาสติกติดแน่นกับอาหาร และระวังอย่าให้อาหารยื่นออกมา

ข้อควรระวังในการนำพลาสติกแรปออกจากภาชนะ หรืออาหารโดยตรง หลังอุ่นในไมโครเวฟ อย่าดึงพลาสติกแรปออกทั้งหมดทันที เนื่องจากไอน้ำอาจระเบิดออกมาทั้งหมดในคราวเดียวกัน และอาจมาโดยตัวเราทำให้เกิดแผลพุพองที่เกิดจากความร้อนได้

เมื่อจะนำพลาสติกแรปออก ให้ดึงออกในฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับตัวเรา โดยดึงพลาสติกแรปเข้าหาตัว เพื่อให้ความร้อนและไอน้ำระบายออกไปทางฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับเรา ทำให้เราปลอดภัย ไม่ถูกลวกจากความร้อนและไอน้ำอย่างแน่นอน

พลาสติกแรปใช้กับไมโครเวฟได้จริง ๆ ใช่ไหม?

หลายคนกังวลกับการใช้พลาสติกในไมโครเวฟ กลัวว่าจะมีสารตกค้าง ก่อนอื่นเลยเราต้องเลือกซื้อพลาสติกแรปยี่ห้อที่ได้มาตรฐาน และมีคุณสมบัติในการนำเข้าไปอุ่นอาหารในไมโครเวฟได้

อุณหภูมิความร้อนที่พลาสติกแรปสามารถทนทานได้ คือไม่เกิน 130 องศาเซลเซียส และทนความเย็นได้ไม่เกิน -40 องศาเซลเซียส แนะนำให้ใช้กับความร้อนที่ไม่สูงเกิน 110 องศาเซลเซียส และเย็นไม่ต่ำกว่า -30 องศาเซลเซียส จะปลอดภัยอย่างแน่นอน

ปกติแล้วน้ำจะเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ไม่มีทางร้อนไปกว่านี้ แต่น้ำมันร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส น้ำตาลก็เช่นกัน สามารถร้อนได้สูงกว่า 100 องศาเซลเซียส เราจึงไม่ควรนำพลาสติกแรปไปใช้อุ่นอาหารที่มีน้ำมัน และมีน้ำตาลมาก ๆ เพราะความร้อนอาจสูงเกิน 130 องศาเซลเซียส ทำให้พลาสติกแรปละลายได้ แต่ถ้าเป็นอาหารอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป ไม่มีทางเกิน 100 องศาเซลเซียสแน่นอน ส่วนเรื่องความเย็น ช่องแช่แข็งในตู้เย็นตามบ้านทั่วไป ไม่มีทางเย็นเกิน -20 องศาเซลเซียส จึงปลอดภัยเช่นกัน

และไม่ควรนำพลาสติกแรปไปสัมผัสกับอาหารที่มีไขมันมากโดยตรง เพราะเมื่อไขมันถูกความร้อน อาจทำปฏิกิริยากับพลาสติกแรป ทำให้เกิดสารปนเปื้อนในอาหารได้.

ที่มาและภาพ : grape japan