เปิดวันแรกแห่งเดือนใหม่ด้วยโศกนาฏกรรมครั้งใหม่ จากเหตุการณ์ที่หนึ่งในรถบัสทัศนศึกษาจากโรงเรียนวัดเขาพระยา อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ซึ่งครูและนักเรียนโดยสารรวมกัน 44 คน เกิดเพลิงไหม้บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต ระหว่างเดินทางกลับจากทัศนศึกษา เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 1 ต.ค.2567 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
โดยรถบัสโดยสารคันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุล้อยางระเบิด ทำให้รถเสียหลักไปชนรถยนต์ส่วนบุคคลคันอื่น ก่อนที่รถบัสจะพุ่งชนแท่นแบริเออร์บริเวณเกาะกลางถนน จากนั้นได้เกิดแก๊สรั่วและมีไฟลุกไหม้แผดเผารถทั้งคันอย่างรวดเร็ว แม้ผู้โดยสารพยายามหนีออกจากรถ แต่ก็ออกมาได้เพียงบางส่วน จึงนำไปสู่การสูญเสียหลายชีวิต พร้อมกับสร้างบาดแผลทางกายและทางใจแก่ผู้ประสบเหตุและครอบครัว
จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้คนในสังคมส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสภาพรถบัส การดัดแปลงตัวรถ รวมถึงคนขับรถ และเจ้าของรถหรือเจ้าของกิจการรถบัสได้ตรวจเช็กสภาพรถหรือไม่ อย่างไร ใส่ใจเรื่องมาตรฐานของยานพาหนะและเรื่องความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ยังเป็นคำถามที่มีเสมอมา เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดโศกนาฏกรรมบนท้องถนนเช่นนี้ แต่ละครั้งจะมีความรุนแรงและการสูญเสียที่แตกต่างกันไป
ขณะที่สายตาของนานาชาติ แม้กระทั่ง “องค์กรอนามัยโลก” ได้จัดอันดับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ซึ่งนี่คงไม่ใช่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ แต่ควรถือเป็นสัญญาณที่กระตุ้นเตือนฝ่ายต่างๆในบ้านเมืองเรา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต้องหันมาร่วมใจกันแก้ไขอย่างจริงจัง
“นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์” ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มองว่า กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ต้องทบทวนเรื่องการเตรียมความพร้อมของสภาพรถ ต้องเข้มงวดตั้งแต่การตรวจสภาพของตัวรถ ความพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเพลิงไหม้เกิดขึ้น และต้องทบทวนเรื่องระบบการอพยพหรือการจัดการเหตุฉุกเฉินด้วย
สอดรับกับความคิดเห็นของหลายฝ่ายที่อยากให้นำเหตุการณ์นี้มาถอดบทเรียนทบทวนและแก้ไขอย่างจริงจังโดยรัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพ
จึงถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าจะเชิญตัวแทนจากบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรด้านวิศวกรรมมาร่วมอยู่ในคณะกรรมการที่จะขึ้นมาตรวจสอบรอบด้านของเหตุการณ์นี้ เพื่อจัดทำมาตรการทุกระดับในการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต
ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำรัฐบาลอย่าง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องไม่ทำให้การแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นไปแบบ “ไฟไหม้ฟาง”หรือ “วัวหายแล้วล้อมคอก” แต่ต้องเร่งผลักดันในการดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่องในทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนเพื่อดูแลคุ้มครองชีวิตประชาชน ให้สมกับเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน
เพราะ “น้ำตา” ไม่ช่วยแก้ปัญหาได้เท่ากับลงมือทำจริง.