7 ส.ค. 59 มีการทำ “ประชามติ” ให้ผ่าน-ไม่ให้ผ่าน ร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับปี 60 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน โดยมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 29,740,677 คน (59.40%) ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50,071,589 คน

เป็นเสียงผ่านความเห็นชอบ 16,820,402 คะแนน (61.35%) ไม่เห็นชอบ 10,598,037 คะแนน (38.65%) ส่วนประเด็นคำถามพ่วง ที่ระบุให้ สว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ สส. ได้รับความเห็นชอบ 15,132,050 คะแนน (58.07%) ไม่เห็นชอบ 10,926,648 คะแนน (41.93%)

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 67 มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขเนื้อหาจากร่างสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

คือ 1.ต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้เสียงลงคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และ 2.ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิในเรื่องที่จัดทำประชามติ แตกต่างจากร่างเดิมแค่ชั้นเดียว ที่ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเท่านั้น!

โดยที่ประชุม สว.ลงมติเห็นด้วยในหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ด้วยคะแนน 167 เสียง ต่อ 19 เสียง ดังนั้นต้องส่งร่างฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรว่าจะยืนยันเนื้อหาตามที่ สว.แก้ไขหรือไม่

ถ้า สส.ยินยอมตามมติส่วนใหญ่ของ สว. ก็เดินหน้าทำประชามติได้ทันช่วงต้นเดือน ก.พ. 68 แต่ถ้า สส.ไม่ยินยอม และยืนยันตามร่างเดิมที่ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว สิ่งที่ตามมาจะต้องตั้ง กมธ.ร่วมฝ่ายละ 10 คน หากตกลงไม่ได้ ร่างฯ จะถูกแขวนไว้ 180 วัน หลังจากนั้นสภาจึงสามารถยืนยันใช้ร่างฉบับของตัวเองได้ จะส่งผลกระทบให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลปัจจุบัน และสภาชุดนี้ ที่เหลือเวลาไม่ถึง 3 ปีแล้ว!

พยัคฆ์น้อย” ขอกระตุก! ไปยัง สส.ในสภาทุกคน ทุกพรรคการเมือง เมื่อ สว.เขาจะเอาการผ่านประชามติต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือภาษาแบบบ้าน คือ “2 เกินกึ่งหนึ่ง” หรือ “เกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น” ก็ลุยไปตาม สว.นั่นแหละ! ไม่ต้องตั้ง กมธ. ร่วม สส. และ สว. ขึ้นมาให้เสียเวลาอีกแล้ว ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1.เพื่อจะได้ทำประชามติเร็ว ๆ และมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาทันใช้ในการเลือกตั้งปี 70

2.การทำประชามติเมื่อเดือน ส.ค.59 ในสภาพการเมืองที่ไม่ค่อยปกติ มีทหารปกครองบ้านเมือง แต่ประชาชนยังออกมาใช้สิทธิลงประชามติเกินครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด ส่วนเที่ยวนี้ถ้าทำประชามติแล้วประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด ก็ต้องไปโทษประชาชนที่ไม่รู้ร้อน ไม่รู้หนาว ไม่ออกมาใช้สิทธิเอง! ไม่เกี่ยวอะไรกับสภาและรัฐบาล

3.ถ้าสภารัฐบาล ขืนดึงเวลาเอาไว้ ไม่เร่งทำประชามติ แล้วการเลือกตั้งเที่ยวหน้ายังต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกันอยู่! รับประกันว่า สส.ทั้งสภา และรัฐบาลเจอ “ทัวร์ลง” คณะใหญ่แน่นอน!

4.เร่งทำประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตีกรอบอำนาจของ “องค์กรอิสระ” ให้ชัดเจนอย่างมีขอบเขต! ไม่เปิดช่องให้ใช้ “ดุลพินิจ” กันตามอำเภอใจ และไม่มีอำนาจมากกว่าสภา-รัฐบาล

ที่สำคัญถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาเร็ว ๆ จะได้ปิดสวิตช์ สว.ที่ว่ากันว่าเป็น สว.สีน้ำเงิน ไม่ให้อยู่ถึง 5 ปี!!.

…………………………………………
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…