จากกรณีข่าวนักเรียนพร้อมด้วยครูกว่า 44 ชีวิต เดินทางไปทัศนศึกษา ปรากฏว่าระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้รถบัสคันดังกล่าวไฟไหม้ แต่สิ่งที่ทำให้สังคมสะเทือนใจสุด ๆ คือพลเมืองดีที่สัญจรผ่านจุดที่เกิดเหตุ พยายามช่วยเหลือเด็กอนุบาลและคุณครูออกจากรถให้มากที่สุด แต่ก็ไม่อาจต้านทานเพลิงไหม้ได้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 23 คน แบ่งเป็น เพศชาย 11 คน เพศหญิง 7 คน และระบุไม่ได้ 5 ราย ทั้งนี้ยังพบร่างคุณครูกอดเด็กไว้ในอก ตรงประตูทางออกอีกด้วย ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊ก Psychology CU ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ และขอแสดงความห่วงใยไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคนค่ะ” นอกจากนี้ยังพร้อมแนบขั้นตอนการดูแลจิตใจเบื้องต้น

การดูแลจิตใจเบื้องต้น
สำหรับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ข่าวสาร
– งดเว้นการแชร์ข่าว/เหตุการณ์ไปยังคนรอบตัวที่ท่านคิดว่ามีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับเหตุการณ์ อาจด้วยเจตนาดีที่อยากให้พวกเขาระวังตัวมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความเศร้า วิตกกังวลมากกว่าปกติได้
– ดูแลกายและใจของตนเองให้ดีที่สุด แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง แต่การมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าว อาจดึงให้เราเกิดอารมณ์ทางลบ จมดิ่งไปกับเหตุการณ์ได้ เช่น ผู้ที่มีลูกวัยเล็กเหมือนกัน ผู้ที่ตนเองหรือคนใกล้ชิดเคยมีประสบการณ์อุบัติเหตุในท้องถนน
– เพิ่มความมั่นใจให้ตนเองและครอบครัวในการตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันภัยในบ้าน/ที่ทำงาน/ยานพาหนะอีกครั้ง ศึกษาแนวทางการดูแลตนเองและคนใกล้ตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ
– เปิดพื้นที่ให้ครอบครัวได้เข้าถึงข้อมูลด้วยตนเอง​ เราไม่ควรส่งภาพหรือข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังครอบครัว หรือคนอื่นๆ
– ให้ความเป็นส่วนตัวแก่ครอบครัวในการประมวลเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง​​
– ร่วมแสดงความเสียใจ แต่ไม่ซักถามถึงข้อมูลก่อนหรือหลังเกิดเหตุการณ์ หากครอบครัวไม่ได้เริ่มการสื่อสารเอง
– สื่อสารด้วยคำพูดที่เป็นกลาง​ ไม่กระตุ้นเร้า​​​​ ไม่นำเสนอภาพการสูญเสีย หรืออธิบายเหตุการณ์ด้วยคำพูดที่กระตุ้นเร้าที่อาจเพิ่มการรับรู้ความสูญเสียที่เกิดขึ้น…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Psychology CU