สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่า ข้อมูลของกรมสำมะโนและสถิติ (ดีซีเอส) ของศรีลังกา แสดงให้เห็นว่า การลดลงของราคาอาหาร และสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ส่งผลให้เกิดอัตราเงินฝืดในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.5 ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

อนึ่ง ศรีลังกาประสบกับภาวะเงินฝืดครั้งล่าสุด เมื่อเดือน มี.ค. 2538 โดยตัวเลขอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.9 ส่วนเหตุการณ์ราคาสินค้าลดลงครั้งก่อนหน้า เกิดขึ้นในปี 2528 ซึ่งในเวลานั้น อัตราเงินเฟ้อของประเทศอยู่ที่ติดลบร้อยละ 2.1

ในทางตรงกันข้าม ศรีลังกามีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดที่ร้อยละ 69.8 เมื่อสองปีที่แล้ว ท่ามกลางวิกฤติทางการเงินที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งการขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง และยาอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการประท้วงนานหลายเดือน จนประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา ผู้นำประเทศในเวลานั้น ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อเดือน ก.ค. 2565

แม้ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห ผู้นำคนถัดมา ได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 94,400 ล้านบาท) รวมถึงปรับขึ้นภาษีและราคาสินค้า เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ แต่เขาลงจากตำแหน่งหลังพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อเดือนที่แล้ว

ด้านประธานาธิบดีอนุรา กุมาร ดิษณายาเก ผู้นำคนปัจจุบัน ให้คำมั่นว่าจะรักษาโครงการของไอเอ็มเอฟ แต่จะผ่อนคลายมาตรการรัดเข็ดขัดบางส่วน ที่ประกาศใช้ในรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีวิกรมสิงเห.

เครดิตภาพ : AFP