ลองเปรียบโลกของเราเหมือนกับตัวเรา อุณหภูมิตัวเราเท่ากับ 37.5 องศา ถ้าเพิ่มขึ้น 1.5 องศา เป็นอุณหภูมิ 39 องศา เรียกว่าเริ่มไข้สูง และถ้าเพิ่มขึ้น 2 องศา เป็น 39.5 องศา เรียกว่ามีไข้สูงมากจน มีสิทธิเสียชีวิตได้เลย จะเห็นว่าถ้าเราเปรียบโลกเหมือนตัวเราแล้วก็เท่ากับว่าโลกกำลังป่วยหนัก” หมอแอมป์-ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหารบีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และนายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กล่าวบนเวที SX Talk Stage ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024

โรคมากขึ้นเพราะโลกร้อนขึ้น?

ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) มีการคาดการณ์ว่าปี 2030-2050 อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นจะทำให้ผู้คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 250,000 คนต่อปีจากภาวะทุพโภชนาการ โรคมาลาเรีย ท้องร่วง รวมถึงภาวะเครียดจากผลกระทบด้านมลพิษ ความร้อน นํ้าท่วม นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคาดการณ์ว่าจะมีคนเสียชีวิต 7 ล้านคนต่อปีจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศ

มิติสุขภาพเชื่อมโยงคาร์บอนฟุตพรินต์

ในแต่ละวันพฤติกรรมของเราก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ สร้างก๊าซเรือนกระจกตัวการทำให้โลกร้อน แต่การปรับตัวเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีช่วยโลกได้ จากข้อมูลทางสถิติในอาเซียน พบว่าในแต่ละวันคนไทยปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ เท่ากับ 3.8 คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) อยู่เป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน ในขณะที่สถิติของบรูไน ซึ่งเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 24 CO2e

“องค์การสหประชาชาติ (UN) ให้ความหมายของ Sustainability ว่าเป็นการตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยไม่ลดทอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นถัดไป ดังนั้น การสร้างพฤติกรรมสุขภาพอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน Sustainability Literacy จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อการมีสุขภาวะที่ดี ไม่เพียงแค่คนในรุ่นปัจจุบัน แต่รวมถึงของคนรุ่นถัดไปอีกด้วย” นายแพทย์ตนุพล กล่าวบนเวที SX TALK STAGE ในงาน SX2024 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้-6 ต.ค. 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

5 พฤติกรรมสุขภาพดียั่งยืน

1. อาหารจากพืช คืออาหารที่ยั่งยืน การบริโภคในยุคนี้มนุษย์เราเน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ขณะที่จำนวนประชากรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน เพราะระบบอุตสาหกรรมอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงประมาณ 1 ใน 4 ของโลก จากรายงานจาก McKinsey Sustainability เดือนกันยายน ปี 2021 พบว่าสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างวัวและแกะ ปล่อยก๊าซมีเทนในระหว่างการย่อยอาหาร พร้อมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 ของการปล่อยมลพิษทางการเกษตร

“การได้มาซึ่งเนื้อวัว 1 กิโลกรัม ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 60 กิโลกรัม ขณะที่ถั่วเหลืองก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.9 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งปริมาณต่างกันถึง 60 เท่า”

โดยเฉลี่ยแล้วหากทุกคนรับประทานอาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบ (Plant-based diet) มากขึ้น และหยุดการปล่อยมลพิษจากภาคส่วนอื่น ๆ มีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงในการประชุม COP26 ที่นานาชาติรวม 200 ประเทศได้ประกาศที่ได้ทำร่วมกันไว้

สำหรับแนวทางการรับประทานอาหารที่ยั่งยืนที่หมอแอมป์แนะนำ มีทั้งมังสวิรัติ วีแกน และแบบที่มีแนวโน้มการกินเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกเทียบสัดส่วนจาก 10% เป็น 13% และหมอแอมป์เองก็เลือกทำคือ แบบยืดหยุ่น หรือที่เรียกว่า Flexitarian เน้นการกินอาหารที่มาจากพืช สลับกับเนื้อหรือปลาเล็กน้อยเป็นบางครั้ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งยังดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

2. ออกกำลังกาย การมีีสุขภาพดีแบบยั่งยืนไม่ได้จำกัดเพียงแค่รูปแบบการกินอาหารเท่านั้น แต่รวมถึงกิจกรรมทางกายที่เกิดผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากการออกกำลังกายในยิมแล้ว การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางในชีวิตประจำวัน อย่างการเดินเท้า วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือการเดินทางแบบใช้แรงกายตัวเองเป็นหลัก (Active Transportation) เป็นรูปแบบการเดินทางที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน (Carbon-Free) และเพิ่มโอกาสในการออกกำลังกาย ช่วยสร้างเสริมสุขภาพในทุกช่วงอายุ

ในรายงานปี 2011 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environment International พบว่าการเดินทางแบบใช้แรงกาย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 11% รวมถึงลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคมะเร็งบางชนิด

3. อากาศดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลให้คุณภาพอากาศแย่ลง อากาศที่ไม่ดีนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการระคายเคืองที่ตา จมูกและคอ อาการไอ อาการภูมิแพ้ แย่ไปกว่านั้นคือส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในระยะยาวมลพิษทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด และยังส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงอีกด้วย

การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการไม่สูบบุหรี่ การลดการบริโภคอาหารแปรรูป หรือหลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัว มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน และลดการสร้างฝุ่น PM2.5 ลดความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ไม่เฉพาะแค่ตัวเรา แต่รวมไปถึงครอบครัวและผู้คนอื่น ๆ บนโลกอีกด้วย

4.การนอนหลับที่ดีและยั่งยืน นอกจากการนอนจะเป็นพฤติกรรมที่ดีในมิติสุขภาพแล้ว การนอนหลับยังเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะในขณะตื่นนอน มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร พลังงานไฟฟ้า และเชื้อเพลิงหมายความว่ายิ่งเรานอนหลับน้อยลงเท่าใดก็ยิ่งเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น

นอกเหนือจากการใช้ทรัพยากรในยามตื่น การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพและระยะเวลาไม่เพียงพอ ยังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคภัย ทำให้นํ้าหนักตัวเพิ่มขึ้น เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง และเกิดปัญหาสุขภาพจิต และเมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็เพิ่มของเสียทางการแพทย์ เพิ่มขยะกำจัดยากเป็นภาระของโลกมากขึ้น

5. กิจกรรมอาสา สร้างอารมณ์แห่งความสุข สิ่งแวดล้อมรอบตัวส่งผลต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของผู้คนเป็นอย่างมาก หากสิ่งแวดล้อมดี มลพิษน้อยจิตใจจะแจ่มใส ความเครียดลดน้อยลง สำหรับกิจกรรมจิตอาสา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและยังสร้างความตระหนักรู้ นอกจากจะช่วยโลกแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนและส่งผลด้านบวกต่ออารมณ์ของเรา

เห็นแล้วใช่ไหมว่าทั้ง 5 พฤติกรรมนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อโลกของเราอีกด้วย ดังนั้น การดูแลสุขภาพ ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อคนที่เรารักและโลกใบนี้ มาร่วมสร้างสังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน สุดท้ายนี้ขออวยพรให้ทุกคนมีสุขภาพดี “อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” คุณหมอแอมป์ กล่าวทิ้งท้าย.