เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลจะนัดหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจาก สว.คว่ำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ ว่า ยังไม่ได้นัด แต่ได้ยินจากสื่อมวลชน ซึ่งโดยปกติ พรรคร่วมรัฐบาลจะนัดคุยกันอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีเหตุการณ์น้ำท่วม และปัญหาของประชาชน จึงต้องช่วยเหลือประชาชนก่อน เพราะการอยู่รอดชีวิตของประชาชนมีความสำคัญ แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งตามระยะเวลาของรัฐบาลจะอยู่อีก 3 ปี กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเจตจำนงของรัฐบาลที่จะต้องแก้ รวมถึงต้องมีการคุยกัน และจะต้องใช้เสียงในสภา คือการยกมือลงมติ

เมื่อถามว่ากรณีที่ สว.คว่ำร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับ สส. เพื่อให้กลับไปใช้แบบ 2 ชั้น ซึ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญลำบากขึ้น จะถูกมองว่ายื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนไม่ได้มองแบบนั้น เพราะสภาต้องมีพื้นที่สำหรับคนที่เห็นต่างกันมาพูดคุย ส่วน สว.เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์อาจจะมีมุมมอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียง สว. ทำให้ถูกมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไปในทิศทางเดียวกับบางพรรคการเมืองที่สนับสนุน สว. พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดเรื่องนี้เป็นคนแรก ซึ่งตอนนั้น ตนนั่งอยู่ด้วย

เมื่อถามย้ำว่าจะเป็นใบสั่งของพรรคสีน้ำเงินที่ให้ สว.คว่ำร่าง พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่มี เพราะผู้ที่จะสั่งรัฐบาลได้ คือประชาชน  ประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล รัฐบาลต้องอยู่รับใช้ประชาชน คนที่จะสั่งรัฐบาลได้ก็คือประชาชน

เมื่อถามว่าการหารือของพรรคร่วมรัฐบาล จำเป็นต้องมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การหารือก็เหมือนการเสวนา ไม่ใช่การโต้วาที  การหารือมีความเห็นแตกต่างกันได้ ส่วนการโต้วาทีคือการทะเลาะกันกลายๆ เอาชนะด้วยคารม การเสวนาอาจจะมีความเห็นไม่เหมือนกันได้แต่สุดท้ายจะจบด้วยความสามัคคีกัน  ต่อข้อถามว่าการที่ สว.คว่ำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะส่งผลเสียกับรัฐบาลหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เป็นอำนาจของ สว. รัฐธรรมนูญมีช่อง หากเห็นไม่ตรงกัน แย้งขึ้นไปได้

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเป็นห่วงว่าหากยื้อเกินไปเช่นนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ได้ห่วง เพราะสุดท้ายอยู่ที่เหตุผล แม้ สว. จะไม่ได้ถูกเลือกจากประชาชนโดยตรง เข้ามาโดยระบบเลือกตั้งทางอ้อม ตนเชื่อว่า สว. ต้องเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุงและพัฒนา จึงไม่มีความน่าเป็นห่วง  เมื่อถามว่าจะถือเป็นการยื้อมรดก คสช. หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ขอไม่มองอย่าไปคิดให้ทะเลาะกันดีกว่า