เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่สถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI (ไบโอไทย) พร้อมด้วยทีมทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีที่ถูกบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา อันมีมูลเหตุจากการเผยแพร่ข้อมูลการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาได้มีเครือข่ายเกษตรกร พร้อมด้วยเครือข่ายประชาสังคมจำนวนมาก ได้เดินทางเข้าให้กำลังใจวิฑูรย์ในการรับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้ด้วย 

ทั้งนี้ ภายหลังจากรับทราบข้อกล่าวหา นายวิฑูรย์ แถลงแนวทางในการต่อสู้คดี ว่า วันนี้ตนต้องขอขอบคุณเครือข่ายเกษตรกรและเครือข่ายภาคประชาชนสังคมที่เข้ามาให้กำลังใจตนด้วย และต้องขอบคุณทีมทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยสนับสนุนการต่อสู้ครั้งนี้ เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้เราถูกฟ้องร้องนั้นเกิดขึ้นมาจากการทำงานเพื่อปกป้องเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักในการทำงานของมูลนิธิชีววิถี ซึ่งวัตถุประสงค์ข้อแรกในการทำงานของเราก็คือการศึกษาเผยแพร่เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องสิทธิของเกษตรกร สิทธิชุมชนรวมไปถึงเรื่องของความมั่นคงด้านอาหารด้วย 

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นคือมีปลาที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ระบาดออกไปถึง 19 จังหวัด และส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากจนกระทั่งในบางพื้นที่ถึงกับหมดอาชีพมีคนทำร้ายตัวเองฆ่าตัวตายก็มี และไม่ใช่แค่นั้นเป็นการทำลายสายพันธ์ของสัตว์น้ำกร่อยปูปลาทั้งหลายแหล่ เราคิดว่าปัญหาที่มันใหญ่มากขนาดนี้มันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ ดังนั้นก็ถือว่าเราทำตามหน้าที่ทำตามวัตถุประสงค์ขององค์กรและส่วนหนึ่งก็เป็นการสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้วย และเรายังยืนยันว่าเราจะเดินหน้าทำงานเรื่องนี้ต่อไปโดยไม่หวั่นไหว และพร้อมที่จะต่อสู้คดีเพื่อที่จะเอาความจริงมาเผยแพร่ 

“ไบโอไทย มีพี่น้องพันธมิตรและองค์กรภาคประชาสังคมหลายส่วนที่สนับสนุน และเราเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับคนเล็กคนน้อยที่เขาลุกขึ้นมาปกป้องในเรื่องสิ่งแวดล้อม ปกป้องสิทธิของตนเองที่จะดำเนินการเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ เราคิดว่ามันน่าจะหนักหนามากกับการที่กฎหมายเปิดช่องให้ผู้ที่สังคม หรือภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งคำถามกับการที่ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แล้วก็ทำให้ผู้ที่ตั้งคำถามต้องเจอกับสภาพที่ถูกฟ้อง ต่อไปก็จะยากลำบากมากขึ้น ที่จะมีใครลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ” นายวิฑูรย์กล่าว

ด้านนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้สื่อข่าวทุกท่านที่ให้ความสำคัญมาทำข่าวเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพประมงจากปัญหากรณีที่เกิดจากปลาหมอคางดำ สืบเนื่องจากข่าวการแพร่กระจายขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจึงเป็นที่มาของการจัดประชุมเสวนาทางวิชาการขององค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม มีนักวิชาการ และผู้ประกอบการอาชีพประมงที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่กระจายขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำเข้าร่วมเสวนาวิชาการ โดยมีจุดประสงค์ร่วมกันเพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเสียหายของเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพประมงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

นายรัษฎา กล่าวอีกว่า ต่อมาผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำจากต่างประเทศมาเพาะเลี้ยงที่ตำบลยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้นำข้อมูลที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นในเวทีประชุมสัมมนาให้สัมภาษณ์ ไปแจ้งความกล่าวหาดำเนินคดีนายวิฑูรย์ ว่าได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา  วันนี้นายวิฑูรย์ เข้าพบพนักงานสอบสวนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันมั่นคงว่าเขาจะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด ในฐานะที่เป็นทนายความและทำงานแก้ต่างคดีให้กับนายวิฑูรย์ เห็นว่าผู้ที่เข้ามาร่วมประชุมเสวนาปัญหาเรื่องปลาหมอคางดำมีทั้งผู้แทนผู้ประกอบอาชีพประมงที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือ EnLAW นักวิชาการองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนที่สนใจก็เพราะความห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ และความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ 

นายรัษฎา กล่าวต่อว่า มูลนิธิชีววิถีมีวัตถุประสงค์ในการทำงานคือการศึกษาเผยแพร่เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องสิทธิของเกษตรกร สิทธิชุมชนรวมไปถึงเรื่องของความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งหากประชาชนที่สนใจติดตามข่าวเรื่องปลาหมอคางดำจะพบว่าปลาหมอคางดำได้แพร่กระจายขยายพันธุ์ไปจากจ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และไปถึงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และทนายความด้านสิ่งแวดล้อมของสภาทนายความที่รวบรวมข้อเท็จจริงต่อมาก็ได้ฟ้องคดีผู้ประกอบการนำเข้าปลาหมอคางดำ ที่เป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนเสียหายของเกษตรกรชาวประมงฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลปกครอง

“สำหรับแนวทางในการต่อสู้คดีวันนี้ คุณวิฑูรย์ได้ให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวนไปแล้วว่าไม่ได้กระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งพนักงานสอบสวนก็จะรวบรวมสำนวนเสนอความเห็นต่ออัยการแล้วหากอัยการไม่เห็นด้วยกับพนักงานสอบสวนก็สั่งไม่ฟ้องได้ ถ้าอัยการพิจารณาแล้วยังเห็นด้วยกับพนักงานสอบสวนว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดแล้วส่งฟ้อง ก็จะมีมีการฟ้องคดีต่อศาลเราก็จะไปแก้ต่างในชั้นศาลต่อไปซึ่งก็ต้องจับตากันต่อว่าดุลยพินิจของอัยการหลังจากได้รับสำนวนคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วจะเป็นอย่างไร แต่เราก็พร้อมที่จะต่อสู้ในทุกกระบวนการเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ” นายรัษฎา กล่าว

ขณะที่น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นข้อกฎหมายว่า กรณีปลาหมอคางดำ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงและอาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก บทบาทของมูลนิธิชีววิถีที่ตรวจสอบเรื่องนี้ เป็นบทบาทการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ การถูกแจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้ ก่อให้เกิดคำถามในสังคมว่าเป็นการใช้กฎหมายเพื่อยับยั้งการแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ และเป็นบทพิสูจน์ของกระบวนการยุติธรรมว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ไปในทิศทางใด

น.ส.จันทร์จิรา กล่าวต่อว่า สำหรับทีมทนายความ เห็นว่าการดำเนินคดีครั้งนี้เป็นโอกาสในการนำเสนอข้อมูลและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์ความจริงและยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสิ่งที่ทำได้ นอกจากนี้ ทีมทนายคาดหวังให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มีบทบาทในการตรวจสอบต้นตอของปัญหาและใช้อำนาจตามกฎหมายจัดการกับผู้ก่อความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างเข้มแข็งบ้าง เพราะรัฐมีกลไกมากมายที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลป้องกันภัยคุกคามทุกรูปแบบให้กับประชาชนและสังคม แต่ที่ผ่านมา ประชาชนต้องใช้สิทธิฟ้องคดีกันเอง ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมายเพื่อปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแทนรัฐ.