สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ว่า แม้เศรษฐกิจลาวอาจเติบโตถึงร้อยละ 4 ในปีนี้ แต่ธนาคารพัฒนาเอเชียได้เตือนถึงความท้าทายที่ยังคงอยู่ โดยเฉพาะหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการลงทุน และการบริโภคในประเทศ

ในรายงานฉบับล่าสุด ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เอดีบีปรับลดคาดการณ์การเติบโตสำหรับปี 2568 ลงเหลือร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และระบุไว้ที่ร้อยละ 4

รายงานเตือนด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 21.5 ในปีหน้า และปัจจัยส่วนใหญ่ขับเคลื่อน โดยการอ่อนค่าของเงินกีบลาว

“จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนในปัจจุบัน ใกล้เคียงกับระดับก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ด้วยแรงหนุนจากการที่ลาวทำหน้าที่ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ปีนี้ และโครงการท่องเที่ยวลาว 2024” น.ส.โซโนมิ ทานากะ ผู้อำนวยการเอดีบีประจำประเทศลาว กล่าว “อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อแนวโน้มดังกล่าวมาจากปัญหาหนี้สิน ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการการเงินสาธารณะอย่างพร้อมเพรียงกัน, โปร่งใส และยั่งยืน”

แม้ธนาคารแห่งลาวจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 สัปดาห์ จากร้อยละ 8.5 ในเดือน ก.พ. เป็นร้อยละ 10.5 ในเดือน ส.ค. และเข้มงวดการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่เงินกีบลาวยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา เงินกีบอ่อนค่าลงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเงินบาทไทย และร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจตึงเครียดมากขึ้น

ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 24.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 25.3 การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ อันเนื่องมาจากการย้ายถิ่นฐานออกไปต่างประเทศ ทำให้ราคาและค่าจ้างในประเทศถูกกดดันมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ โยนภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้บริโภค และทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น

ด้านระดับหนี้สาธารณะยังคงวิกฤติ แม้วหนี้สาธารณะ และหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน จะลดลงเล็กน้อยจาก 13,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 448,010 ล้านบาท) ในปี 2565 เป็น 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 444,829 ล้านบาท) เมื่อปี 2566 หรือจากร้อยละ 112 เหลือร้อยละ 108 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สวนทางกับหนี้ภายนอกต่อรายได้รวมของรัฐบาล ที่พุ่งขึ้นจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 43 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลือกการรีไฟแนนซ์ที่จำกัดในปี 2568 ประกอบกับการครบกำหนดชำระหนี้ภายนอกจำนวนมาก จะจำกัดการเข้าถึงสกุลเงินต่างประเทศของภาคสาธารณะ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อการฟื้นตัวของภาคเอกชน และการใช้จ่ายของครัวเรือน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES