ในสัปดาห์นี้ ออสเตรเลียประกาศเปิดตัวโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ โดยหวังว่าจะสามารถส่งไฟฟ้า 2 กิกะวัตต์ ให้กับสิงคโปร์ ผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลได้

ทั้งนี้ สิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2573 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 แต่ประเทศต้องพึ่งพานํ้ามันและก๊าซธรรมชาตินำเข้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากสิงคโปร์ขาดสภาพที่เหมาะสมในการผลิตพลังงานลม หรือพลังงานนํ้า

แม้สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้า 2 กิกะวัตต์ จากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ ภายในปี 2573 แต่ประเทศไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน ความต้องการพลังงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศูนย์ข้อมูล ซึ่งคิดเป็น 7% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าของสิงคโปร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12% ภายในปี 2573

เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงาน สำนักงานตลาดพลังงานของสิงคโปร์ (อีเอ็มเอ) จึงอนุมัติการนำเข้าไฟฟ้า 1 กิกะวัตต์จากกัมพูชา, 2 กิกะวัตต์จากอินโดนีเซีย และ 1.2 กิกะวัตต์จากเวียดนาม โดยไฟฟ้าเหล่านี้มาจากการผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม และพลังงานนํ้า ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานยอดนิยม แต่ก็ทำให้เกิดการถกเถียงในบางครั้ง เพราะมันมักเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับเขื่อน

ตามข้อมูลของคลังสมอง “เอ็มเบอร์” การนำเข้าพลังงานหมุนเวียนคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 30% ของพลังงานไฟฟ้าในสิงคโปร์ ภายในปี 2578 อย่างไรก็ตาม นายนีลส์ เดอ โบเออร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของสถาบันวิจัยพลังงานนันยาง กล่าวเตือนว่า สิงคโปร์ต้องเผชิญกับ “ความท้าทายหลายประการ” ไม่ว่าจะเป็น ระยะทางในการส่งพลังงาน, การสูญเสียพลังงาน และความไม่สม่ำเสมอ

อนึ่ง แผนการของสิงคโปร์ ระบุถึงการวางสายเคเบิลใต้ทะเล ความยาว 4,300 กิโลเมตร และโครงการดังกล่าวยังต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของสิงคโปร์, รัฐบาลอินโดนีเซีย และชุมชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย

กระนั้น ผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า สิงคโปร์เผชิญกับความขัดแย้งเกี่ยวกับวิธีการส่งพลังงานผ่านประเทศต่าง ๆ รวมถึงการแข่งขันระหว่างประเทศ เพื่อเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งในปัจจุบัน สิงคโปร์พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนำเข้าที่ซื้อได้ในตลาดเสรี ซึ่งในกรณีที่เกิดการชะงักงัน สิงคโปร์อาจมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนทางเลือกน้อยมากที่จะมาทดแทนได้

ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์จึงจำเป็นต้องกระจายแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวเพิ่มเติมว่า สิงคโปร์สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการมีส่วนร่วมในหน่วยงานหรือองค์กรระดับภูมิภาค เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน).