จากกรณีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย จนมีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อีกทั้งทรัพย์สินของประชาชนและเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีหลายหน่วยงานระดมกำลังและสิ่งของบรรเทาทุกข์เข้าช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันถึงแม้ว่าระดับน้ำจะลดลงไปแล้ว แต่บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ต่างก็ประสบกับปัญหาดินโคลนที่ไหลมากับน้ำ ขณะเดียวกันจิตอาสาต่างๆ ยังคงเร่งระดมช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน ตามที่สื่อได้เผยแพร่ออกไป

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Mongy Mongkonkorn Srivichai” หรือ ผศ.มงคลกร ศรีวิชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงราย ได้โพสต์ผลแล็บของดินโคลนในเหตุการณ์น้ำท่วมแม่สาย หลังพบว่ามีแร่ธาตุจำนวนมาก และเหมาะแก่การเพาะปลูกอีกด้วย

เจ้าของโพสต์ ระบุข้อความว่า “ผมเอาดินตะกอนน้ำท่วมจากแม่สาย มาส่งให้ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงราย ผลออกมาแล้ว พบว่า PH7Nitrogen ประมาณ 50-200 ppm Phosphorous ประมาณ 4-14 ppm Potash ประมาณ 50-200 ppm และพบธาตุ Calcium Magnesium Boron สรุปก็เหมาะกับการเพาะปลูกนะครับ ขอบคุณ ผศ.ดร.สุบิน Subin Jaita”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา ต่างมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่ต่างบอกว่า “ก็หน้าดินทั้งนั้นที่มากับน้ำ พวกที่ปลูกข้าวโพด ข้าวไร่บนดอยเตรียมตัวเลย ปลูกไว้ ต้องใส่ปุ๋ยเยอะๆ ถึงจะโต เพราะหน้าดินไปหมดแล้ว, เอาไปผสมแกลบขุยมะพร้าว ทราย ปลูกผักงามแน่นอน, ชาวบ้านที่ปลูกผักขายตามตลิ่ง เขารู้กันมานานแล้วละครับ, ถ้าผมมีที่แถวนั้น ผมให้ขนไปถมที่ผมเลยไม่อั้น เสียดายที่อยู่ไกล ช่วยได้ก็แค่บริจาค เงินกับของ” อีกด้วย..

ขอบคุณข้อมูล : Mongy Mongkonkorn Srivichai