ถูกจับตามอง การประชุมวุฒิสภาวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งจะมีการพิจารณาเรื่องเร่งด่วน คือ ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยคณะกรรมาธิการ(กมธ )วิสามัญฯ ที่มี “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร” สมาชิกวุฒิสภา(สว.) เป็นประธานกมธ.ฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว สำหรับสาระสำคัญของรายงานซึ่งกมธ.เสนอต่อที่ประชุม พบว่า มีการแก้ไขเพียง 1 มาตรา ในมาตรา 7 ซึ่งแก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์การผ่านประชามติ โดยกมธ.ได้แก้เพิ่มเติมไปจากบทบัญญัติที่สภาฯ เห็นชอบ

โดยได้เติมข้อความในวรรคสอง กำหนดให้การทำประชามติ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(รธน.) ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง ในเรื่องที่ทำประชามตินั้น ซึ่งแปลความได้ว่า ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากเป็นกรณีที่ทำประชามติเพื่อแก้ไขรธน. ขณะที่เรื่องทั่วๆ ไปนั้น กมธ.ยังคงหลักเกณฑ์ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือ “เสียงข้างมากของผู้ออกมาออกเสียง และเสียงข้างมากนั้นต้องสูงกว่าคะแนน ไม่แสดงความคิดเห็นเรื่องที่ทำประชามติ”

ทั้งนี้ในรายงานดังกล่าว สำหรับการแก้ไข มาตรา 7 นั้น พบว่ามีกมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็น ได้แก่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. นายกฤช เอื้อวงศ์ นายนิกร จำนง นายวุฒิสาร ตันไชย และ น.ส.อุดมลักษณ์ บุญสว่าง ซึ่งเป็นกมธ.ในโควตาของรัฐบาล

ด้าน พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว. ) ในฐานะประธานคณะกมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กมธ.เสียงข้างมากหนุนเกณฑ์ประชามติโดยใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในกรณีที่ทำประชามติเพื่อแก้ไขรธน. ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมของ สส.นั้นว่า เป็นเรื่องของ กมธ. ที่ได้พิจารณาร่วมกัน เมื่อถามว่า สว.อีกฝ่ายและบางพรรคการเมืองมองว่าเป็นการยื้อแก้รธน. พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ย้อนถามว่า อันนี้ก็แล้วแต่ อีกฝ่ายคือใคร ตนไม่ทราบ และเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะมอง ไม่เกี่ยวกับ กมธ. อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 30 ก.ย.ที่มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่าจะพิจารณาอย่างไร ส่วนจะต้องมีการตั้งกมธ.พิจารณาร่วมกันของ สส.และสว.หรือไม่ ก็แล้วแต่กระบวนการของการร่างกฎหมาย.

อย่างไรก็ตามบทสรุปในที่ประชุมคณะกมธ.ฯ ซึ่งมีเสียงเห็นชอบ17 ต่อ 1 ที่โหวตให้แก้ไข เกณฑ์การผ่านประชามติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่ชัดเจน ของทิศทางโหวตในที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งเสียงข้างเกินครึ่งทิศทางอยู่ภายใต้การชี้นำของ “ส.ว. สีน้ำเงิน” ถ้าหากมีที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบตามแนวทางของกมธ.ฯแก้ไข จะส่งผลให้ไทม์ไลน์ในการแก้ไขรธน. ของรัฐบาลที่มี พรรคเพื่อไทย(พท.)เป็นแกนนำจะต้องเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้กระบวนการร่างรธน. โดยสภาร่างรธน. (ส.ส.ร.) ต้องล่าช้าออกไป อย่างน้อยอีก 1 ปี

ด้วยเหตุ 1.หากมติที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบ กับกมธ.ฯ ต้องส่งคืน สภาฯ เพื่อให้ตั้งกมธ.ร่วมกัน ฝั่งละ 10 คน 2.กมธ.ร่วมกันต้องใช้เวลาพิจารณาถกเถียง โดย “สภาฯ” อาจไม่ยอมให้ปรับแก้ไขตามวุฒิสภา และยืนตาม ร่างฯ ที่สภาฯ เห็นชอบ จากนั้นต้องให้แต่ละ สภา คือ “สภาผู้แทนราษฎร” และและ “วุฒิสภา” ลงมติ 3.หากมีแค่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบแล้ว “ร่างพ.ร.บ.ประชามติ” ต้องยับยั้งไว้ 6 เดือน และเมื่อพ้นเวลาดังกล่าว “สภาฯ” จึงจะมีสิทธิลงมติยืนยัน ร่างฯ ในฉบับที่สภาฯเห็นชอบ หรือ ร่างที่กมธ.ร่วมกัน แก้ไขโดยใช้มติเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ สส.ที่มีอยู่ จากนั้นถึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายได้ หากนับปฏิทิน ที่มีจุดเริ่มต้น 30 ก.ย. ที่วุฒิสภาจะพิจารณา “ร่างฯ ที่ กมธ.วุฒิสภา” แก้ไข จะพบว่าในกระบวนการตั้ง “กมธ.ร่วมกัน” และส่งให้สภาฯ เห็นชอบ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 45 วัน และแม้จะใช้ช่วงเวลาปิดสมัยประชุมพิจารณาได้ แต่การลงมตินั้นต้องรอให้ เปิดสมัยประชุม ในช่วงเดือน ธ.ค. 67

หากผลโหวต ของ 2 สภาฯ จบภายก่อนสิ้นปี 67ได้ แต่ผลค้านกันชัดเจน ต้องยับยั้งร่างกฎหมายนี้นาน 6 เดือน หรือกินเวลาไปถึง กลางปี 68 และกว่าที่ร่างพ.ร.บ.จะบังคับใช้และเข้าสู่กระบวนการทำประชามติรอบแรกเร็วสุดคือ ปลายปี 68 หรือ ต้นปี69 จึงไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่า การเดินเกมของ “สว.สายน้ำเงิน” รอบนี้ จุดประสงค์ คือ เพื่อยื้อ เกมรื้อรธน. 60

ด้าน “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นว่า โรดแมปที่แกนนำรัฐบาล พูดกันว่า เลือกตั้งปี 70 จะมีรธน.ให้ใช้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว ด้วยสถานการณ์ที่มีคนพยายามใช้กลไกถ่วงเวลาการแก้รธน.เช่นนี้ เห็นว่า รัฐบาลและรัฐสภามีทางเลือก 2 ทาง ทางเลือกแรก ลดการออกเสียงประชามติเหลือ 2 ครั้ง กล่าวคือ เสนอร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการจัดทำรธน.ใหม่เข้ารัฐสภาเลย (ถ้ารีบเสนอวันนี้เลย ก็สามารถพิจารณาวาระแรกทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือน ต.ค. เมื่อผ่านรัฐสภา ก็ไปออกเสียงประชามติ เมื่อผ่าน ก็มี ส.ส.ร. เมื่อ ส.ส.ร.ทำร่างใหม่เสร็จ ก็นำมาออกเสียงประชามติ

ทางเลือกนี้ ประหยัดเวลาไปอีก 8-10 เดือน และทำประชามติเพียงสองครั้ง ประหยัดงบประมาณไปได้มาก ประธานรัฐสภาไม่ต้องกังวล ต้องกล้าบรรจุเรื่องเข้ารัฐสภา เพราะคำวินิจฉัยศาลรธน.บอกว่าการทำรธน.ใหม่ต้องทำประชามติ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง กรณีนี้ ทำสองครั้ง (แก้ให้มี สสร 1 ครั้ง และ ร่างใหม่ที่ สสร ทำ อีก 1 ครั้ง)

ทางเลือกที่สอง เสนอแก้รธน. 60 รายมาตรา ตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวดสุดท้าย ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 279 ในนเมื่อการมี ส.ส.ร.ในเมื่อการทำรธน.มีอุปสรรคมากมาย กังวลเรื่องนั้น กลัวเรื่องนี้ เถียงกันอยู่แค่ว่าต้องมีประชามติกี่ครั้ง ต้องแก้ไขกฎหมายประชามติก่อนหรือไม่ อย่างไร อย่ากระนั้นเลย ในเมื่อรัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรธน.อยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรธน.เสีย ปัญหาหรือข้อกังวลต่างๆก็ตกไป

นายปิยบุตร ระบุด้วยว่า การแก้ไข ตั้งแต่ มาตรา 25 ถึง มาตรา 279 ไม่ใช่การทำใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว ย่อมไม่ติดกับดัก “ประชามติ” ที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกังวลเรื่องจะมาแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ ก็ไม่มี เพราะ นี่คือการเริ่มแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป และกระบวนการนี้ ทั้งหมดจบได้ด้วยประชามติครั้งเดียวตอนท้าย หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ทางเลือกนี้ แก้ทั้งกับดัก และยังช่วยประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ มีแต่ทางเลือกสองทางนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรามีรธน.ใช้ทันในปี70

ต้องรอดูข้อเสนอของ “นายปิยบุตร” จะได้รับการสนองตอบจากพรรคการเมืองอื่นๆหรือไม่ นอกเหนือจาก “พรรคประชาชน(ปชน.)” เพราะเชื่อว่า ถ้าหากมีการผลักดันจริง คงมีนักร้องนำเรื่องไปยื่นองค์กรอิสระให้ตรวจสอบ เรื่องการขัดผลประโยชน์ส่วนต้นแน่นอน

แต่ที่น่าสนใจคือความเห็นของ “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้การทำประชามติ พร้อมการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด( อบจ.) ว่า สามารถทำได้ตามทฤษฎีและการบริหาร แต่ในทางกฎหมายอาจมีปัญหาที่ ผู้มีสิทธิ์เลือกมีลักษณะคล้ายกันมาก และในบางจังหวัดมีการเลือกนายก อบจ. ไปแล้ว คาดว่างบประมาณอาจจะใช้เป็น 2 เท่า และขณะนี้ความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายประชามติยังไม่แน่ชัด จึงเห็นว่าเห็นว่าการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นแนวทางที่ดีกว่า เช่นเลือก อบจ. คนละวันกับการทำประชามติ

โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการเลือก นายกอบจ.และสมาชิกอบจ. ที่จะครบวาระ ในวันที่ 19 ธ.ค.2567 ซึ่งต้องเลือกภายใน 45 วันนั้น คาดว่าจะ กำหนดวันเลือกตั้งได้หากไม่ใช่วันที่ 26 ม.ค.68 ก็คือวันที่ 2 ก.พ. 68

ความเห็นของเลขาธิการกกต. ถือว่าน่าสนใจ ในฐานะผู้ปฏิบัติ ต้องรอดูในการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะนำความเห็นของเลขาธิการกกต. ไปร่วมพิจารณาหรือไม่.