จากกรณีที่ น.ส.กรกนก สุวรรณบุตร หรือแม่ตั๊ก แม่ค้าขายทองออนไลน์ชื่อดังบน TikTok ถูกบรรดาเหล่าตัวแทนลูกค้าซื้อทองออนไลน์ดาหน้าออกมาโวยและเปิดโปงเรื่องทองคำไม่ตรงปก หลังมีการนำเอาทองที่ซื้อมาจากร้านแม่ตั๊กไปขายที่ร้านทองแห่งอื่น ๆ แต่ปรากฏว่าร้านขายทองหลายแห่งไม่รับซื้อ เพราะไม่มีเปอร์เซ็นต์ทองและไม่มียี่ห้อ จนขณะนี้กลายเป็นประเด็นดราม่ายืดเยื้อถึงขั้นเป็นคดีความ ส่อถูกตำรวจ ปคบ. แจ้งความดำเนินคดีฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.คอมพ์ ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษกสำนักงาน ปปง. ว่า จากกรณีที่ปรากฏข่าวอยู่ในสาธารณะขณะนี้ ซึ่งบุคคลได้มีพฤติการณ์การจำหน่ายทองคำผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ปรากฏว่ามีผู้เสียหายออกมาเดินหน้าขอให้มีการตรวจสอบว่าทองคำที่จำหน่ายโดยการโฆษณานั้น ตรงตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ รวมทั้งยังมีการกล่าวถึงกิจการของบุคคลซึ่งปรากฏเรื่องรายได้สูงผิดปกติ สำหรับกระบวนการตรวจสอบว่าบุคคลจะมีพฤติการณ์เรื่องการฟอกเงินหรือไม่

ความคืบหน้าล่าสุด คือ ในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย. นี้ ปปง. ได้เตรียมรับข้อมูลและรายละเอียดทางคดี โดยเฉพาะรายงานการกระทำความผิดจากทั้งตำรวจ ปคบ. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อตรวจสอบรายงานข้อมูลที่เกิดขึ้นว่ามีประเด็นข้อสำคัญอย่างไรบ้าง และหากมีประเด็นอื่นใดที่ ปปง. ติดใจสงสัย ก็จะได้แจ้งเรียกขอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามกรอบระเบียบกฎหมายของ ปปง.

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ที่ ปปง. จะได้รับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. และเจ้าหน้าที่ สคบ. ก็เพื่อตรวจสอบด้วยว่ามีรายการทรัพย์สินใดบ้างของบุคคลที่เชื่อได้ว่าอาจได้มาจากการกระทำความผิดหรือไม่ เพราะตำรวจ ปคบ. จะตรวจสอบในฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน ดังนั้น หากตำรวจพบหลักฐานว่าบุคคลมีการกระทำความผิดดังกล่าว ก็จะเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายของ ปปง. จึงทำให้ตำรวจ ปคบ. ในฐานะเจ้าของสำนวนคดี ต้องทำการส่งเรื่องมาให้ ปปง. ดำเนินการสืบสวนฟอกเงินจากรายการทรัพย์สิน และถ้า ปปง. พบว่ามีมูลตามสมควร ก็จะประมวลเรื่องส่งไปยังคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อมีมติมอบหมายในการไปตรวจสอบทรัพย์สิน

โฆษก ปปง. กล่าวอีกว่า เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมมีมติมอบหมายให้ไปตรวจสอบทรัพย์สินแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการที่คณะกรรมการธุรกรรมจะพิจารณาออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้ ส่วนบุคคลใดที่ไปรับ จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินมาก็อาจมีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ ปปง. ยังทำการตรวจสอบทรัพย์สินครอบคลุมไปถึงผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งทางพฤติการณ์ และทางกฎหมายที่อยู่ในข่าย และมีธุรกรรมทางการเงินเชื่อมโยงถึง จึงทำให้นอกจากอาจจะถูกยึดและอายัดทรัพย์สินแล้ว ยังอาจจะถูกดำเนินคดีฐานฟอกเงินร่วมด้วย ทั้งนี้ เรื่องรายได้จากการประกอบกิจการของบุคคล ยังมีกรมสรรพากรที่รับหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นเงินได้ที่พึงประเมินที่ต้องมีการเสียภาษีหรือไม่

โฆษก ปปง. กล่าวต่อว่า สำนักงาน ปปง. ยังไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่ามีการฟอกเงินเกิดขึ้น เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอนกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน แต่ยืนยันว่าเรามีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งหมด ที่มาจากการกระทำความผิดเมื่อมีความผิดมูลฐานเกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์แล้ว และพร้อมรับดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนประเด็นการเปิดรับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายนั้น โฆษก ปปง. แจงว่า ต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการธุรกรรมก่อน ซึ่งหากมีมติเป็นอย่างไร สำนักงาน ปปง. จะได้แจ้งให้ทราบต่อไป.