“ปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อ ‘ประชาธิปไตยรุ่นใหม่’ ก็ส่งผลต่อประชาธิปไตยที่เก่าแก่และมั่นคงอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งในยุโรปและอเมริกา” นายเควิน คาซัส-ซาโมรา เลขาธิการของอินเตอร์เนชั่นแนล ไอเดีย กล่าวเพิ่มเติมว่า เกือบครึ่งหนึ่งของ 173 ประเทศที่ระบุในรายงาน แสดงให้เห็นถึง “การถดถอยอย่างรุนแรง” ในองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยอย่างน้อยหนึ่งประการ เช่น ความสามารถในการจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ หรือเสรีภาพของสื่อ

อนึ่ง สหรัฐมีตัวบ่งชี้ 3 ประการ ซึ่งเสื่อมถอยมาตั้งแต่ปี 2558 ได้แก่ การเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ, เสรีภาพของพลเมือง และความเท่าเทียมทางการเมือง อีกทั้งชาวอเมริกันที่เชื่อว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2563 เป็นการเลือกตั้งที่ “เสรีและยุติธรรม” มีสัดส่วนอยู่ที่ 47%

นอกเหนือจากการแบ่งขั้ว สหรัฐยังเผชิญกับความท้าทายที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ ไม่รู้สึกว่ากระบวนการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือ ขณะที่การใช้ความรุนแรงทางการเมือง กลับถูกมองว่ามีความชอบธรรมมากกว่า

คาซัส-ซาโมรา กล่าวว่า การปลูกฝังความสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการและผลการเลือกตั้ง ที่น่าเชื่อถือและมั่นคง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสหรัฐเท่านั้น เพราะเมื่อบรรดาผู้นำทางการเมือง ปฏิเสธที่จะรับรองความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง หรือเริ่มท้าทายการเลือกตั้งในศาล มันถือเป็นการส่ง “สัญญาณสำคัญ” ไปยังผู้สิทธิเลือกตั้ง

“ในบางกรณี สัญญาณดังกล่าวสื่อถึงความกังวลอันชอบธรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และในบางกรณี มันสื่อถึงความพยายามที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งจะกร่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อชัยชนะของฝ่ายตรงข้าม” รายงานระบุเสริม

ระหว่างช่วงกลางปี 2563 ถึงช่วงกลางปี 2567 ผลการเลือกตั้งในสัดส่วน 20% ถูกปฏิเสธโดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้ง ในประเทศที่อินเทอร์เนชั่นแนล ไอเดีย ทำการศึกษา และพรรคฝ่ายค้านบอยคอตการเลือกตั้งมากถึง 1 ใน 10 ครั้ง

ในเวเนซุเอลา ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา ไม่ได้รับการยอมรับจากสหรัฐ, สหภาพยุโรป (อียู) และหลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมถึงประเทศพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ของรัฐบาลการากัสบางประเทศ ซึ่งคาซัส-ซาโมรา มองว่า ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา ตัดสินใจเปลี่ยนประเทศของเขาให้กลายเป็นเกาหลีเหนือ หากนั่นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้

นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ที่น่าหดหู่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น สงคราม, ภาวะโลกร้อน และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ล้วนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดระบอบประชาธิปไตยเสื่อมถอยเช่นกัน

แม้รายงานทำให้เห็นถึงสถานการณ์ที่มืดมน แต่คาซัส-ซาโมรา หวังว่าทุกคนจะเข้าใจว่า การสนับสนุนประชาธิปไตย คือองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์ความมั่นคงระยะยาว ที่ได้รับการวางแผนมาเป็นอย่างดี อีกทั้งการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งตามมาด้วยการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น กัวเตมาลา, อินเดีย, โปแลนด์ และเซเนกัล.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP